
ตากุ้งยิง: สัญญาณเตือน อาการ การรักษา และวิธีป้องกัน
เคยเป็นไหม ? ตื่นเช้ามาเห็นตาบวมแดง เจ็บปวด สัมผัสแล้วรู้สึกเหมือนมีก้อนเล็ก ๆ ที่เปลือกตา กะพริบตาแต่ละครั้งก็แสบและเจ็บ แถมยังมีขี้ตาเหนียว ๆ มากกว่าปกติ นี่อาจเป็นสัญญาณของโรค 'ตากุ้งยิง' ที่หลายคนเคยเจอแต่อาจไม่รู้วิธีรับมือที่ถูกต้อง
Table of Content:
1. ตากุ้งยิง คืออะไร ?
ตากุ้งยิง หรือในทางการแพทย์เรียกว่า Hordeolum เป็นการอักเสบของต่อมไขมันบริเวณเปลือกตา มักมีลักษณะเป็นตุ่มแดงเล็ก ๆ ปวด บวม แดง บริเวณขอบเปลือกตา เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในต่อมไขมันหรือรูขุมขนของขนตา โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ
-
ตากุ้งยิงภายนอก (External Hordeolum) เกิดจากการอักเสบของต่อมไขมันที่อยู่ตื้นบริเวณขอบเปลือกตา มักสังเกตเห็นได้ชัดเจน มีลักษณะเป็นตุ่มแดงนูนขึ้นมา มักจะเจ็บเมื่อสัมผัส และอาจมีหัวหนองให้เห็นเมื่อเวลาผ่านไป
-
ตากุ้งยิงภายใน (Internal Hordeolum) เป็นการอักเสบของต่อมไขมันที่อยู่ในตำแหน่งที่ลึกกว่า แต่มักอยู่ด้านในของเปลือกตา หรือที่เรียกว่าตากุ้งยิงไม่มีหัว อาการจะรุนแรงกว่าแบบภายนอก ทำให้เปลือกตาบวมมากกว่า รวมถึงรู้สึกปวดมากกว่าด้วย และอาจต้องใช้เวลารักษานานกว่า
2. ตากุ้งยิงสามารถสังเกตอาการเริ่มต้นได้อย่างไร ?
อาการเริ่มต้นที่สังเกตได้
-
รู้สึกคันหรือระคายเคืองบริเวณเปลือกตา
-
รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในตา
-
เปลือกตาเริ่มแดงเล็กน้อย
-
เจ็บเล็กน้อยเมื่อ กะพริบตา
ระยะการพัฒนาของอาการ
-
เปลือกตาบวมแดงมากขึ้น
-
รู้สึกปวดมากขึ้นเมื่อกะพริบตาหรือสัมผัส
-
มีตุ่มแดงเล็ก ๆ เกิดขึ้นที่ขอบเปลือกตา
-
อาจมีขี้ตาเหนียวมากกว่าปกติ
-
ในบางรายอาจมีน้ำตาไหลมากผิดปกติ
สัญญาณที่ต้องระวังและควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย
-
หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์
-
มีอาการรุนแรงขึ้น เช่น ปวดมากขึ้น บวมมากขึ้น
-
มีไข้
-
การมองเห็นเปลี่ยนแปลง
-
ตาแดงลามไปทั่วตา ไม่เฉพาะที่เปลือกตา
-
เป็นตากุ้งยิงซ้ำหลายครั้งในระยะเวลาใกล้เคียงกัน
3. ตากุ้งยิงเกิดจากอะไร ?
-
เชื้อแบคทีเรีย สาเหตุหลักของตากุ้งยิงคือการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะเชื้อ Staphylococcus Aureus ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่พบได้ทั่วไปบนผิวหนังและบริเวณรอบ ๆ ตา
-
พฤติกรรมเสี่ยง
-
การขยี้ตาด้วยมือที่ไม่สะอาด
-
การใช้เครื่องสำอางที่หมดอายุหรือปนเปื้อนเชื้อโรค
-
การใช้คอนแทคเลนส์โดยไม่ล้างมือให้สะอาด
-
การไม่ทำความสะอาดเครื่องสำอางก่อนนอน
-
การใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือผ้าเช็ดตาร่วมกับผู้อื่น
-
-
ภาวะอ่อนแอของร่างกาย สามารถเกิดได้หากมีความเครียดสูง พักผ่อนไม่เพียงพอ หรืออยู่ในช่วงระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ และขาดสารอาหารบางชนิด
-
โรคประจำตัวที่เพิ่มความเสี่ยง เช่น โรคเบาหวาน โรคผิวหนังบางชนิด เช่น โรคผิวหนังอักเสบ (Dermatitis) โรคตาแห้ง (Dry Eye Syndrome) และโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันบกพร่อง
4. ตากุ้งยิงไม่มีหัว ต่างจากแบบมีหัวอย่างไร ?
ตากุ้งยิงแบบมีหัว
ตากุ้งยิงแบบมีหัวจะมีลักษณะเป็นตุ่มแดงที่มีจุดสีเหลืองหรือสีขาวตรงกลาง ซึ่งเป็นสัญญาณว่ามีการสะสมของหนอง การรักษามักจะเร็วกว่าเพราะหนองสามารถระบายออกได้เอง เมื่อหัวหนองแตกออกมา อาการมักจะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ใช้เวลาประมาณ 3-5 วัน
ตากุ้งยิงแบบไม่มีหัว
ตากุ้งยิงแบบไม่มีหัว มักเป็นการอักเสบที่ยังไม่มีหนองรวมตัวกันจนเป็นก้อนชัดเจน หรือหนองอยู่ลึกเกินไป ทำให้ไม่สามารถมองเห็นเป็นจุดสีเหลืองหรือขาว อาการอาจคงอยู่นานกว่าและอาจต้องใช้การประคบอุ่นบ่อย ๆ เพื่อช่วยให้หนองรวมตัวกันและระบายออกได้
5. ตากุ้งยิงติดต่อไหม ? ควรระวังอย่างไร ?
ตากุ้งยิงสามารถติดต่อกันได้ผ่านการสัมผัสโดยตรงกับน้ำหนองหรือสารคัดหลั่งจากตาที่ติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นการนำมือไปสัมผัสตาของตนเองแล้วไปสัมผัสสิ่งของต่าง ๆ หรือผ่านการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว หรือเครื่องสำอาง
ดังนั้นจึงควรระวัง โดยมีแนวทางการดูแลของใช้ส่วนตัวเพื่อป้องกันการติดต่อของตากุ้งยิง ดังนี้
ข้อควรระวังเพื่อป้องกันการติดต่อ
-
ล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังสัมผัสบริเวณรอบดวงตา
-
หลีกเลี่ยงการขยี้ตา
-
ไม่ใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้อื่น
-
หากมีคนในครอบครัวเป็นตากุ้งยิง ให้ระมัดระวังเรื่องสุขอนามัยเป็นพิเศษ
-
ในกรณีที่เป็นตากุ้งยิง ควรงดใส่คอนแทคเลนส์จนกว่าอาการจะหายดี
การดูแลของใช้ส่วนตัว
-
ทำความสะอาดเครื่องสำอางและอุปกรณ์อย่างแปรงแต่งหน้า ฟองน้ำ และที่ดัดขนตาทุกครั้งหลังใช้
-
เปลี่ยนผ้าเช็ดหน้าและปลอกหมอนบ่อย ๆ
-
ทิ้งเครื่องสำอางที่หมดอายุ
-
ไม่ใช้เครื่องสำอางร่วมกับผู้อื่น
-
ทำความสะอาดแปรงแต่งหน้าอย่างสม่ำเสมอ
6. ตากุ้งยิงกี่วันหาย ? ต้องรอนานแค่ไหน ?
โดยปกติ ตากุ้งยิงจะหายได้เองภายใน 7-10 วัน หากได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อและประเภทของตากุ้งยิง
ปัจจัยที่มีผลต่อการหาย
-
ประเภทของตากุ้งยิง หากเป็นตากุ้งยิงแบบภายใน อาจใช้เวลานานกว่าถึงจะหายดี
-
ความรุนแรงของการติดเชื้อ
-
ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
-
การได้รับการรักษาที่เหมาะสมและทันท่วงที
-
หากมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน อาจทำให้อาการหายช้าลง
7. ตากุ้งยิงหายเองได้ไหม ? ต้องพบแพทย์เสมอหรือไม่ ?
กรณีที่สามารถรักษาด้วยตนเอง
ตากุ้งยิงส่วนใหญ่สามารถหายได้เองเมื่อได้รับการดูแลที่บ้านอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะตากุ้งยิงภายนอกที่ไม่รุนแรง การประคบอุ่น การทำความสะอาดเปลือกตาอย่างเบามือ และการพักผ่อนให้เพียงพอมักจะช่วยให้อาการดีขึ้นได้
กรณีที่ควรพบแพทย์
-
ตากุ้งยิงที่มีอาการรุนแรง เจ็บปวดมาก
-
อาการไม่ดีขึ้นหลังจากดูแลตนเองที่บ้าน 7-10 วัน
-
มีการติดเชื้อที่ลามออกไปนอกบริเวณเปลือกตา
-
ตากุ้งยิงที่เกิดซ้ำบ่อย ๆ ในระยะเวลาใกล้เคียงกัน
-
มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ไข้ ตาพร่ามัว หรือปวดศีรษะรุนแรง
ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงและควรพบแพทย์ทันที
-
ผู้ป่วยเบาหวาน
-
ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
-
ผู้ที่เคยได้รับการผ่าตัดตามาก่อน
-
เด็กเล็ก
-
ผู้สูงอายุ
-
ผู้ที่มีอาการรุนแรงตั้งแต่เริ่มต้น
8. ตากุ้งยิงรักษายังไง ? วิธีแก้ไขอาการที่ถูกต้อง
การรักษาที่บ้าน (Home Treatment)
-
การประคบอุ่น : การประคบอุ่นจะช่วยให้หนองรวมตัวกันและระบายออกได้เร็วขึ้น ทำได้โดยการใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่น (ไม่ร้อนจนเกินไป) บิดหมาด ๆ ประคบบริเวณที่เป็นตากุ้งยิงประมาณ 10-15 นาที ทำซ้ำ 3-4 ครั้งต่อวัน
-
การทำความสะอาดเปลือกตา : ล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสบริเวณรอบดวงตา ใช้น้ำสะอาดหรือน้ำเกลือล้างตาเบา ๆ แล้วจึงใช้สำลีหรือผ้าสะอาดซับให้แห้ง
-
สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง
-
การบีบหรือเจาะตากุ้งยิงด้วยตนเอง เพราะอาจทำให้การติดเชื้อรุนแรงขึ้น
-
หลีกเลี่ยงการขยี้ตา
-
ไม่ควรใส่คอนแทคเลนส์ระหว่างที่เป็นตากุ้งยิง
-
ไม่ควรแต่งหน้าบริเวณรอบดวงตาระหว่างที่เป็นตากุ้งยิง
-
การรักษาโดยแพทย์
-
ยาปฏิชีวนะ : แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะชนิดหยอดตาหรือขี้ผึ้ง และในกรณีที่มีการติดเชื้อรุนแรง อาจได้รับยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน
-
การเจาะระบายหนอง : ในกรณีที่ตากุ้งยิงมีขนาดใหญ่และไม่แตกเอง แพทย์อาจพิจารณาเจาะระบายหนองให้ โดยการเจาะจะทำภายใต้การใช้ยาชาเฉพาะที่และต้องดำเนินการโดยแพทย์เท่านั้น
-
การรักษากรณีรุนแรง : ในกรณีที่มีการติดเชื้อลุกลามมากอาจต้องได้รับการรักษาเพิ่มเติม เช่น ในบางกรณีอาจต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพื่อให้ยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือด
9. วิธีป้องกันตากุ้งยิงไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ
-
การรักษาความสะอาด ล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสดวงตาหรือใบหน้า ควรล้างหน้าทุกครั้งก่อนนอนเพื่อกำจัดสิ่งสกปรกและเครื่องสำอาง และหลีกเลี่ยงการขยี้ตา
-
การดูแลเครื่องสำอางและอุปกรณ์แต่งหน้า ทำความสะอาดแปรงแต่งหน้าทุก 1-2 สัปดาห์ เปลี่ยนเครื่องสำอางทุก 3-6 เดือน โดยเฉพาะมาสคาร่าและอายไลเนอร์ ที่สำคัญไม่ใช้เครื่องสำอางร่วมกับผู้อื่น และล้างเครื่องสำอางออกให้หมดก่อนนอน
-
การดูแลคอนแทคเลนส์ ล้างมือให้สะอาดก่อนใส่หรือถอดคอนแทคเลนส์ ทำความสะอาดและเปลี่ยนน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ตามคำแนะนำ รวมถึงเปลี่ยนคอนแทคเลนส์ตามระยะเวลาที่กำหนด และไม่ลืมถอดคอนแทคเลนส์ก่อนนอนทุกครั้ง
-
การดูแลสุขภาพโดยรวม ด้วยการพักผ่อนให้เต็มที่ ดื่มน้ำให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน และหลีกเลี่ยงความเครียด
ตากุ้งยิง ไม่น่ากลัว หากรู้จักวิธีรับมือที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม นอกจากการดูแลสุขภาพตาแล้ว การมีหลักประกันด้านสุขภาพที่ครอบคลุมก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะปัญหาสุขภาพมักเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต มีแผนประกันสุขภาพที่ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลจากโรคต่าง ๆ ทั้งยังคุ้มครองโรคร้ายแรงที่คุณไม่คาดคิด
พรูเฮลท์แคร์ พลัส: ประกันสุขภาพเหมาจ่ายคุ้มครองครบถ้วน
พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต มีแผนประกันสุขภาพ "พรูเฮลท์แคร์ พลัส" ช่วยคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล และให้ความคุ้มครองแบบเหมาจ่าย เพื่อให้คุณรู้สึกอุ่นใจในการรักษาตัว
-
ความคุ้มครองชีวิต
-
ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยใน สูงสุดถึง 5 แสนบาท
-
คุ้มครองโรคมะเร็งแบบ เจอ จ่าย จบ สูงสุด 1 ล้านบาท
เบี้ยประกันสุขภาพเริ่มต้นเพียง 20 บาทต่อวัน* พร้อมเครือข่ายโรงพยาบาลคู่สัญญากว่า 600 แห่งทั่วประเทศ
*สำหรับเพศชาย อายุ 20 ปี แผน 1 (ความคุ้มครองชีวิต 100,000 บาท ค่ารักษาพยาบาล 100,000 บาทต่อปี และคุ้มครองมะเร็ง 300,000 บาท)
สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความคุ้มครองที่เหมาะสมกับความต้องการของคุณ สามารถสอบถามได้ที่พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต
มองหาประกันสุขภาพเหมาจ่าย เลือกแผนประกันสุขภาพพรูเฮลท์แคร์ พลัส (PRUHealthcare Plus)
หมายเหตุ
-
ความคุ้มครองขึ้นอยู่กับแผนประกันภัยที่เลือก
-
เงื่อนไขความคุ้มครองเป็นไปตามที่กรมธรรม์กำหนด
-
ผู้ซื้อควรทำความเข้าใจรายละเอียดความคุ้มครอง และเงื่อนไขก่อนตัดสินใจทำประกันภัยทุกครั้ง
ข้อมูลอ้างอิง