เลือกภาษา
close
ผลกระทบจากการสูบบุหรี่ เสี่ยงทำลายสุขภาพของแม่/ลูก
บทความและข้อมูลด้านสุขภาพโดย Pulse

ผลกระทบจากการสูบบุหรี่ เสี่ยงทำลายสุขภาพของแม่และลูกในครรภ์

 

แน่นอนว่าการสูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์นั้นย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพของแม่และลูกน้อยในครรภ์ ว่าที่คุณแม่จึงควรเลิกบุหรี่ให้ได้ก่อนตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายและความเสี่ยงด้านสุขภาพอื่นๆ ตามมา

แต่หากคุณเพิ่งรู้ตัวว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์แล้วคิดจะเลิกสูบบุหรี่ตอนนี้ก็ยังไม่สาย เพราะการเลิกสูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์ให้ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ก็สามารถลดความเสี่ยงในการทำลายสุขภาพของคุณและลูกน้อยได้เช่นกัน ขอเพียงแค่คุณเลิกสูบบุหรี่ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพียงเท่านี้ คุณและลูกน้อยก็จะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงเป็นปกติ

 

อย่างไรก็ตาม การสูบบุหรี่ในช่วงเวลาก่อนการตั้งครรภ์อาจส่งผลเสียต่อการเจริญพันธ์ุได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย:

  • ผู้หญิงที่สูบบุหรี่จะเผชิญปัญหาการมีลูกยากมากกว่าคนทั่วไป

  • ผู้ชายที่สูบบุหรี่จะเผชิญปัญหาอสุจิไม่แข็งแรงหรือมีอสุจิน้อยเกินไป ซึ่งส่งผลให้เกิดการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

 

การสูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์เป็นอันตรายต่อลูกน้อยอย่างไร?

การสูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์จะเป็นอันตรายต่อเด็กได้ ดังนี้

  • ลูกน้อยของคุณอาจตัวเล็กผิดปกติ เพราะสารเคมีในบุหรี่จะส่งผลให้การเจริญเติบโตของเด็กในครรภ์เป็นไปอย่างช้าลง ซึ่งคุณสามารถสังเกตเห็นความผิดปกตินี้ได้ทันทีหลังคลอด

  • ทารกมีความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

  • พัฒนาการของสมองและปอดอาจผิดปกติในระยะยาว ตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงวัยรุ่น

  • เจ้าตัวน้อยมีความเสี่ยงเป็นโรคปากแหว่งเพดานโหว่ตั้งแต่กำเนิดสูงกว่าเด็กทั่วไป ซึ่งความพิการนี้จะทำให้เด็กกินข้าวลำบาก แต่ก็สามารถแก้ไขให้หายเป็นปกติได้ด้วยการผ่าตัดศัลยกรรม

  • ลูกของคุณมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตด้วยโรคไหลตายก่อนอายุ 1 ขวบมากกว่าเด็กทั่วไป

นอกจากการสูบบุหรี่จะทำให้ลูกน้อยของคุณตกอยู่ในอันตรายแล้ว ยังพบอีกว่าคุณแม่ที่ไม่สามารถเลิกบุหรี่ได้ มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะตกเลือดมากผิดปกติระหว่างตั้งครรภ์และคลอดลูกอีกด้วย แต่สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นแน่นอน หากคุณแม่สามารถเลิกบุหรี่ได้ทันเวลา

 

จะเกิดอะไรขึ้นกับเด็กที่คลอดก่อนกำหนด?

ทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะไม่ได้รับประโยชน์ของพัฒนาการของการเจริญเติบโตอย่างเต็มที่ในช่วงสุดท้ายของอายุครรภ์ เด็กๆ เหล่านี้จึงควรได้รับการดูแลเอาใจใส่มากกว่าเด็กที่คลอดตามกำหนด ด้วยเหตุนี้ เราจึงรวบรวมปัญหาสุขภาพทั้ง 6 อย่าง ที่อาจเกิดขึ้นกับเจ้าตัวเล็ก ได้แก่

  • ภาวะน้ำหนักน้อยผิดปกติหลังคลอด

  • ปัญหาการกินที่ลำบากกว่าปกติ

  • ปัญหาด้านระบบหายใจ

  • ภาวะสมองพิการ (พัฒนาการสมองผิดปกติ)

  • พัฒนาการด้านการเจริญเติบโตช้ากว่าเด็กทั่วไป (ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านภาษา การคิดวิเคราะห์ และการเคลื่อนไหว)

  • ปัญหาด้านการได้ยินและสายตา

 

หากสูบบุหรี่ไฟฟ้าแทนบุหรี่ทั่วไประหว่างตั้งครรภ์ จะเป็นตัวเลือกที่ปลอดภัยกว่าไหม?

การสูบบุหรี่ไฟฟ้ายังไม่ใช่ทางเลือกที่ปลอดภัยสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ นั่นเพราะบุหรี่ไฟฟ้าส่วนใหญ่มีนิโคตินเป็นส่วนผสมอยู่ด้วย ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อพัฒนาการของสมองและอวัยวะอื่นๆ ของทารกในระยะยาวไม่ต่างจากบุหรี่ทั่วไป ดังนั้น คุณแม่จึงควรเลิกสูบบุหรี่ไฟฟ้าด้วยเช่นกัน เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านสุขภาพต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อลูกน้อยของคุณ

 

จะเกิดผลดีต่อลูกในครรภ์หรือไม่ หากเลิกบุหรี่ได้ระหว่างตั้งครรภ์?

การเลิกบุหรี่ระหว่างที่คุณกำลังตั้งครรภ์นั้นมีส่วนช่วยได้บ้าง แต่การเลิกบุหรี่ให้ได้ก่อนอายุครรภ์ 15 สัปดาห์ จะช่วยให้ลูกน้อยของคุณมีสุขภาพสมบูรณ์มากที่สุด และการเลิกบุหรี่ได้ก่อนสัปดาห์ที่ 29 ของอายุครรภ์ ยังสามารถช่วยลดความเสี่ยงของภาวะทารกน้ำหนักน้อยผิดปกติหลังคลอดได้ดีอีกด้วย

การเลิกบุหรี่จะส่งผลดีต่อลูกของคุณอย่างไรบ้าง?:

  • ทารกได้รับออกซิเจนเพิ่มขึ้น (เห็นผลได้ตั้งแต่วันแรกที่เลิกบุหรี่)

  • มีพัฒนาการร่างกายดีขึ้น

  • ลดความเสี่ยงทารกคลอดก่อนกำหนดได้

 

การตัดใจเลิกบุหรี่ที่คุณเคยสูบอยู่บ่อยๆ คงไม่ง่ายอย่างที่คิด แต่ในท้ายที่สุด การตัดสินใจทิ้งบุหรี่ออกจากมือไปจะทำให้คุณภูมิใจที่ได้ทำประโยชน์เพื่อตัวเองและลูกรัก เพราะการเลิกบุหรี่นั้นนอกจากจะช่วยให้คุณหายใจได้สะดวกขึ้น มีแรงมากขึ้น แล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ได้อีกมาก เช่น โรคหัวใจ โรคเส้นเลือดในสมองแตก มะเร็งปอด รวมถึงโรคทางปอดอื่นๆ ที่มีสาเหตุจากการสูบบุหรี่สะสมในตลอดหลายปีที่ผ่านมาได้อีกด้วย! 

เริ่มต้นมีสุขภาพที่ดีได้แล้ววันนี้ด้วยแอปพลิเคชัน Pulse by Prudential

ดาวน์โหลดเลย

 QR-code

 appstore  googleplay

Pulse by Prudential รองรับการใช้งานบนระบบปฏิบัติการ iOS เวอร์ชัน 11.0 ขึ้นไป | Android เวอร์ชัน 7.0 ขึ้นไปเท่านั้น