เลือกภาษา
close
 ป้องกันกลโกงมิจฉาชีพออนไลน์
เคล็ด (ไม่) ลับ น่ารู้ - พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต

กลโกงมิจฉาชีพออนไลน์ ป้องกันอย่างไรไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มักได้ยินข่าวผู้เสียหายคนไทยเข้าแจ้งความจากการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพออนไลน์กันเป็นประจำ โดยผลสำรวจจากบริษัท โกโกลุก (Gogolook) และ ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน Whoscall ร่วมกับองค์กรต่อต้านกลโกงระดับโลก Global Anti-Scam Alliance (GASA) และ ScamAdviser รายงานว่า เหยื่อมิจฉาชีพในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา มีมูลค่าความเสียหายจากการถูกหลอก เฉลี่ยอยู่ประมาณ 36,000 บาทต่อคน และ 5 ช่องทางที่มิจฉาชีพใช้ในการหลอกลวงมากที่สุด ได้แก่ Facebook 50% ตามด้วย Line 43%, Messenger 39%, TikTok 25% และ Gmail 20%

ส่วนใหญ่พฤติกรรมการหลอกลวงของมิจฉาชีพ มักจะเกลี้ยกล่อมหรือแจ้งให้ดำเนินการบางประการ เช่น ให้เร่งอัพเดทข้อมูลนิติบุคคล การตรวจสอบพบความผิดปกติในการทำธุรกิจ หากไม่ทำตามจะมีโทษทางกฎหมายพร้อมให้ดาวน์โหลด LINE เพื่อเชื่อมต่อข้อมูล หากหลงเชื่อก็จะถูกมิจฉาชีพดูดเงินทางโทรศัพท์ทันที

นอกจากนี้ ยังมีการปลอมหนังสือรับรองนิติบุคคลและเอกสารทางทะเบียนเพื่อหลอกให้เชื่อใจร่วมลงทุนทางธุรกิจ และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจทั้งที่ไม่มีการจดทะเบียนนิติบุคคลจริง เพราะฉะนั้นทุกคนควรตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนนิติบุคคลจากช่องทางให้บริการของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเท่านั้น ได้แก่ แอปพลิเคชัน DBD e-Service และ www.dbd.go.th เลือกหัวข้อ บริการออนไลน์ และ DBD DataWarehouse+

และในปัจจุบัน การซื้อขายประกันสามารถทำได้อย่างง่ายดายและซื้อได้ผ่านหลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะผ่านตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยโทรมาเสนอขาย หรือง่ายที่สุดคือผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งเป็นช่องโหว่งที่มิจฉาชีพสามารถสวมรอยเป็นตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยมาหลอกให้เหยื่อโอนเงินในหลากหลายรูปแบบ

 

รวบ 3 กลวิธีของมิจฉาชีพขายประกันภัย ให้ทุกคนรู้ทันภัยจากมิจฉาชีพออนไลน์

  • ตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยปกปิดข้อมูล

ตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยไม่แสดงเลขที่ใบอนุญาต หรือไม่ยอมให้ตรวจสอบข้อมูลที่มีการรองรับจากสำนักงาน คปภ. เพราะฉะนั้นก่อนที่จะซื้อประกันใด ๆ ควรตรวจสอบใบอนุญาตตัวแทน/นายหน้าประกันภัยก่อนสำหรับประกันภัยของพรูเด็นเชียล สามารถตรวจสอบรายชื่อตัวแทนหรือพนักงานขายได้ที่ https://link.prudential.co.th/o1LzA

  • เสนอขายด้วยสิทธิพิเศษที่เกินจริง

มิจฉาชีพส่วนใหญ่ จะใช้กลวิธีในการแอบอ้างเสนอขายด้วยสิทธิพิเศษหรือโปรโมชันที่เกินจริง ซึ่งเป็นอีก 1 สาเหตุ ที่อาจจะทำให้ทุกคนโดนหลอกได้ง่าย

  • หลอกให้จ่ายค่าเบี้ยประกันภัยแต่ไม่ได้รับกรมธรรม์ และไม่สามารถเคลมได้

มิจฉาชีพจะแอบอ้างสถาบันประกันภัยต่าง ๆ เพื่อหลอกลวงให้ลูกค้าโอนเงินเพื่อชำระค่าเบี้ยประกันภัย และหลังจากโอนเงินชำระเบี้ยฯไปแล้ว ลูกค้ากลับไม่ได้รับทั้งกรมธรรม์และความคุ้มครอง

 

มาดูวิธีสังเกต Official Account ของ Prudential Thailand

 

วิธีตรวจเช็ค Official Account ของ Prudential Thailand

LINE Official Account

  • LINE ของปลอม จะไม่มีเครื่องหมาย โล่สีเขียว หน้าชื่อแอคเคาท์ ในขณะที่ LINE ของจริง จะมี โล่สีเขียว หรือสีน้ำเงิน วางอยู่หน้าชื่อแอคเคาท์โดดเด่นชัดเจน เพื่อแสดงว่าเป็นบัญชีทางการ หรือบัญชีที่ได้รับการรับรองจาก LINE ประเทศไทยแล้ว สามารถเชื่อถือได้

  • LINE ของปลอม จะมีการสอบถามข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า รวมถึงข้อมูลของธนาคารอื่น ๆ ที่ลูกค้าใช้บริการอยู่ เช่น มีบัญชีของธนาคารอะไรบ้าง มีเงินในแต่ละบัญชีจำนวนเท่าไหร่ เป็นต้น จากนั้นจะหลอกให้ลูกค้าโอนเงินทั้งหมดมารวมกัน เพื่อที่จะได้โอนเข้าบัญชีของมิจฉาชีพทั้งหมดในครั้งเดียว


เมื่อมั่นใจแล้วว่า LINE ที่ทักเข้ามานั้นเป็นของปลอมของพวกมิจฉาชีพ แนะนำให้กดปุ่มรายงานปัญหาและบล็อคแอคเคาท์นั้นในทันที  สำหรับ LINE แอคเคาท์ของพรูเด็นเชียล ประเทศไทย สามารถกดเพิ่มเพื่อนได้ที่นี่ LINE ID @PrudentialThailand หรือคลิก https://link.prudential.co.th/xQ6fX

 

How to เช็กเพจปลอม

 

Facebook Official Account

  • รายละเอียดของเพจ เช่น ชื่อเพจ เครื่องหมาย Meta Verified จำนวนผู้ติดตาม วันที่สร้างเพจ หรือเพจเคยเปลี่ยนชื่อหรือไม่ หากเป็นเพจเปิดใหม่ไม่นานมานี้ หรือมีการเปลี่ยนชื่อมาใหม่ ๆ ให้คิดก่อนเลยว่าปลอม

  • จำนวนผู้ติดตาม อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าจำนวนผู้ติดตามมีความสำคัญ เพจปลอมส่วนใหญ่มักจะมีจำนวนไลค์และผู้ติดตามน้อย นอกจากนี้ ผู้ติดตามยังอาจเป็นผู้ติดตามปลอมที่ถูกสร้างขึ้นมา หากมองผ่าน ๆ จะคล้ายกับผู้ติดตามจริง แต่หากต้องการตรวจสอบอย่างละเอียด สามารถกดเข้าไปดูที่โปรไฟล์ของผู้ติดตามแต่ละคนได้ว่าเป็นบัญชีปลอมหรือบัญชีที่ใช้งานจริง

  • เนื้อหาและการแสดงความคิดเห็นของผู้ติดตาม เนื้อหาที่ปรากฏในความคิดเห็นของโพสต์ถือเป็นส่วนสำคัญในการตรวจสอบเพจปลอม บางเพจจะมีลูกค้าที่ไม่ได้รับสินค้า หรือได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่โฆษณา มาแสดงความคิดเห็นในโพสต์อย่างชัดเจน หรือบางเพจไม่มีความคิดเห็นจากลูกค้าเลย ทั้ง ๆ ที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก หรือบางเพจมีความคิดเห็นจากผู้ติดตามที่เป็นหน้าม้าและมีลักษณะคล้ายกันทั้งหมด


เมื่อมั่นใจแล้วว่าเป็นช่องทางปลอมของมิจฉาชีพ แนะนำให้กดปุ่มรายงานปัญหาและบล็อคแอคเคาท์นั้นทันที สำหรับ Facebook แอคเคาท์ของพรูเด็นเชียล ประเทศไทย สามารถกดเพิ่มเพื่อนได้ที่นี่ https://www.facebook.com/PrudentialThai

หากมีข้อสงสัย สามารถติดต่อศูนย์บริการลูกค้า โทร. 1621 ​ หรือ E-mail hotline@prudential.co.th

 

ข้อมูลอ้างอิง

  1. ผลสำรวจพบคนไทยถูกหลอกออนไลน์เสียหายเฉลี่ย 6 หมื่นบาท/คน

  2. กรมพัฒน์ฯ เตือนภัยอีกรอบ อย่าเสียรู้มิจฉาชีพ

  3. รู้ทัน 5 กลโกงมิจฉาชีพ หลอกขายประกัน