
ปลดภาระภาษีมรดก
สร้างความมั่นคงทางการเงินให้แก่ลูกหลาน
หลายคนใช้เวลาตลอดช่วงชีวิต ในการสร้างเนื้อสร้างตัว เก็บหอมรอมริบ และหวังว่าเมื่อถึงวันที่ตนเองไม่อยู่แล้ว จะยังมีมรดกทิ้งไว้ให้แก่คนข้างหลัง ไม่ว่าจะเป็นลูกหลาน ญาติพี่น้อง หรือคนที่เรารัก เพื่อจะได้มีชีวิตที่สุขสบาย หรือมีเงินก้อนไว้ใช้จ่ายต่อไปได้ แต่สิ่งหนึ่งที่หลาย ๆ คนอาจจะยังไม่รู้ก็คือ มรดกจำนวนมหาศาล อาจนำมาซึ่งภาระภาษีมรดกที่จำเป็นต้องจ่าย ทั้งยังอาจต้องใช้ระยะเวลาในการจัดการมรดกที่ยาวนาน ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงเรื่องเหล่านี้ จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนส่งต่อมรดกด้วยวิธีต่าง ๆ เอาไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
ภาษีมรดกคืออะไร ?
ภาษีมรดก คือ ภาษีที่รัฐบาลเรียกเก็บจากทรัพย์สินที่ผู้เสียชีวิตได้ทิ้งไว้ให้แก่ทายาทหรือผู้รับผลประโยชน์หลังการเสียชีวิต โดยทรัพย์สินที่ครอบคลุมในการเสียภาษีมีหลากหลายประเภท เช่น ที่ดิน บ้าน เงินสด หุ้น หรือสินทรัพย์อื่น ๆ ที่มีมูลค่า รวมถึงทรัพย์สินทางธุรกิจ โดยภาษีนี้จะถูกจัดเก็บตามมูลค่าของทรัพย์สินทั้งหมดที่อยู่ในความครอบครองของผู้เสียชีวิต ซึ่งอาจมีข้อยกเว้นหรือลดหย่อนตามที่กฎหมายกำหนด การเข้าใจเรื่องภาษีมรดกจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะสามารถนำมาใช้วางแผนเพื่อส่งต่อทรัพย์สินให้แก่ลูกหลานได้
ทรัพย์สินประเภทใดที่ต้องเสียภาษีมรดกบ้าง ?
ทรัพย์สินที่ส่งต่อให้แก่ลูกหลาน ซึ่งจะต้องเสียภาษีมรดก มีดังต่อไปนี้
-
อสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน บ้าน อาคาร หรือคอนโดมิเนียม
-
หลักทรัพย์ตามกฎหมาย ได้แก่ หุ้น หุ้นกู้ หน่วยลงทุน ตราสารหนี้ ตราสารอนุพันธ์ต่าง ๆ ที่ออกโดยนิติบุคคลที่จดทะเบียนในไทยหรือต่างประเทศ
-
ยานพาหนะ ที่มีหลักฐานการจดทะเบียน
-
เงินฝากธนาคาร ที่อยู่ในบัญชีของผู้เสียชีวิต
-
ทรัพย์สินทางธุรกิจ ที่ผู้เสียชีวิตเป็นเจ้าของ
ภาษีมรดกต้องเสียเท่าไร ?
การเสียภาษีมรดกในปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 2 อัตราด้วยกัน ดังนี้
มูลค่าทรัพย์สินมรดก |
อัตราภาษี |
ส่วนที่ 1 มูลค่าไม่เกิน 100 ล้านบาท |
ไม่เสีย |
ส่วนที่ 2 มูลค่าส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท จากเจ้าของมรดกแต่ละราย ทั้งแบบที่ได้รับมาในคราวเดียว หรือหลายคราว |
5% หากผู้รับมรดกมีความสัมพันธ์เป็น ผู้สืบสันดานหรือบุพการี 10% หากผู้รับมรดกมีความสัมพันธ์เป็น ญาติ เช่น พี่น้อง หรือไม่ใช่ญาติ |
ตัวอย่างเช่น นาย ก ได้รับมรดกจากบิดา เป็นบ้านพร้อมที่ดิน และเงินฝากในธนาคาร รวมทั้งสิ้น 150 ล้านบาท ทำให้ต้องคำนวณภาษีมรดกในอัตรา 5% โดยสามารถแจกแจงรายละเอียดได้ดังนี้
-
มูลค่าทรัพย์สินมรดก 100 ล้านบาทแรก ไม่ต้องเสียภาษี
-
มูลค่าทรัพย์สินมรดกส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท นั่นคือ 50 ล้านบาท ต้องเสียภาษี 5%
ดังนั้น นาย ก จะต้องเสียภาษีมรดกในส่วนของ 50 ล้านบาท ที่อัตรา 5% ซึ่งคำนวณได้เป็น
50,000,000 × 5% = 2,500,000 บาท
สรุป นาย ก จะต้องเสียภาษีมรดกเป็นเงินทั้งสิ้น 2,500,000 บาท
การวางแผนมรดกสำคัญอย่างไร ?
ลดภาระภาษีมรดก
การวางแผนมรดกอย่างเหมาะสมจะช่วยลดภาระภาษีที่ผู้ได้รับผลประโยชน์จะต้องจ่าย โดยสามารถทำได้ด้วยการกระจายทรัพย์สินไปในรูปแบบที่ไม่จำเป็นต้องเสียภาษีมรดก เช่น ทองคำ ของสะสม และกรมธรรม์ประกันชีวิต
ป้องกันความขัดแย้งในครอบครัว
หากทำการแบ่งทรัพย์สินต่าง ๆ ไว้อย่างชัดเจน จะช่วยลดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นระหว่างทายาทหรือบุคคลในครอบครัว ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการโต้เถียงหรือนำคดีไปสู่ศาล ซึ่งเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง ค่าเสียเวลา และทนายความ ๆ ทั้งยังช่วยให้ครอบครัวรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในระยะยาว
สร้างความมั่นคงทางการเงินให้ครอบครัวในวันที่จากไป
หากวางแผนแบ่งมรดกอย่างชัดเจนตั้งแต่ตอนยังมีชีวิต จะช่วยให้ทายาทและคนในครอบครัวสามารถเข้าถึงทรัพย์สินได้ง่ายขึ้น และไม่ต้องเผชิญปัญหาความล่าช้าหรือความซับซ้อนทางกฎหมาย ทำให้มีเงินสำรองนำมาใช้ได้อย่างสะดวก สร้างสภาพคล่องที่ดี ช่วยให้ดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างราบรื่น
วางแผนส่งต่อมรดกอย่างไร ให้ไม่ต้องเสียภาษีมรดก ?
เพื่อลดภาระการเสียภาษีมรดก หรือภาษีจากส่วนเกินของมูลค่าทรัพย์สินมรดก สามารถทำได้ด้วยวิธีการเหล่านี้
-
สะสมทรัพย์สินที่ได้รับการยกเว้นภาษี ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับมีค่า ทองคำแท่งหรือทองรูปพรรณ รวมถึงของสะสมที่มีมูลค่า เช่น งานศิลปะ นาฬิกาแบรนด์เนม
-
ทำประกันชีวิต เนื่องจากค่าสินไหมทดแทนจากกรมธรรม์ประกันชีวิต ได้รับการยกเว้นภาษีมรดก ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการส่งต่อความมั่นคงให้แก่ลูกหลานในวันที่ต้องจากไป
เมื่อถึงวัยเกษียณ หลายคนย่อมมีทรัพย์สินที่อยากส่งต่อให้แก่ลูกหลานและคนที่รัก การทำประกันชีวิตจึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่มีประสิทธิภาพในการเตรียมส่งมอบมรดก โดยไม่ต้องกังวลเรื่องภาษีที่อาจจะเกิดขึ้น
สำหรับคนที่ต้องการเตรียมความพร้อมเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ พร้อมวางแผนส่งมอบมรดกให้แก่คนข้างหลัง เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงิน โดยไม่ทิ้งภาระภาษีมรดกให้กับลูกหลานต้องรับผิดชอบ มาเลือกแผนประกันชีวิต ช่วงวัยเกษียณ ที่เหมาะกับความต้องการจากพรูเด็นเชียล ประกันชีวิตได้เลย
ข้อมูลอ้างอิง