เลือกภาษา
close
ภูมิแพ้เรื้อรัง! ภัยร้ายจาก PM 2.5

ภูมิแพ้เรื้อรัง! ภัยร้ายจาก PM 2.5 ปกป้องลูกอย่างไรให้ปลอดภัยจากวิกฤติฝุ่น

ภูมิแพ้ในเด็ก​

 

จากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในตอนนี้ เรียกว่าเป็นปัญหาที่ส่งกระทบไปทั่วโลก ไม่เพียงแค่ประเทศไทยเท่านั้น โดยเฉพาะผลกระทบที่มีต่อสุขภาพ และยิ่งมาเจอกับข้อมูลจากแพทย์สภาที่บอกว่าในช่วงเดือนธันวาคมถึงมีนาคมของทุกปี จะมีปรากฎการณ์มลพิษทางอากาศเกิดขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่ปิด ทำให้ผู้ป่วยโรคทางระบบหายใจและโรคอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น ก็ยิ่งน่ากังวลเพิ่มเข้าไปอีก แล้วแบบนี้ลูกน้อยจะรอดวิกฤต PM2.5 นี้ไปได้อย่างไร

 

PM2.5 ฝุ่นละอองขนาดเล็ก…ที่ส่งผลกระทบมหาศาล

อย่างที่รู้กันดีว่า PM 2.5 ถือเป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือมีขนาดเล็กกว่าเส้นผมเราถึง 25 เท่า ทำให้เจ้าฝุ่นนี้สามารถผ่านเข้าสู่ทางเดินหายใจไปยังถุงลมฝอย หลอดเลือดฝอย ไปจนถึงกระแสเลือดได้อย่างง่ายดาย ถึงขนาดที่เมื่อปีพ.ศ. 2557 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่าการสัมผัสกับฝุ่น PM2.5 ทำให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรสูงถึงประมาณ 3.7 ล้านคนต่อปี และผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่บริเวณฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย

 

ฝุ่น PM 2.5 ปัจจัยกระตุ้นโรคภูมิแพ้

นอกจากนี้องค์การอนามัยโลกได้ประเมินไว้ว่าในอีก 26 ปีข้างหน้า หรือปี พ.ศ.2593 ครึ่งหนึ่งของประชากรโลกจะเกิดโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ ซึ่งจะถูกกระตุ้นด้วยสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ รวมไปถึง PM2.5 ก็เช่นกัน เนื่องจากเมื่อฝุ่น PM2.5 เดินทางเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ส่งผลให้เกิดภูมิแพ้ทางเดินหายใจและภูมิแพ้ผิวหนัง อีกทั้งยังกระตุ้นให้คนที่มีอาการแพ้ต่อสารก่อภูมิเดิมได้ไวขึ้น และยังทำให้เกิดอาการแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้ชนิดใหม่เพิ่มขึ้นได้ด้วย เพราะฉะนั้นในเด็กที่เป็นโรคภูมิแพ้และโรคหืด ทางเดินหายใจของเด็กกลุ่มนี้มักจะมีความไวต่อการอักเสบ หรือการกระตุ้นจากฝุ่นละออง ซึ่งทำให้โรคยิ่งแย่ลงได้ง่ายกว่าคนทั่วไป

 

ทำไม? ยิ่งเด็ก…ยิ่งเซนซิทีฟ

เด็ก ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี เนื่องจากตัวเล็ก หายใจเร็ว และมีพฤติกรรมที่ชอบเล่นในที่กลางแจ้ง ทำให้มีโอกาสที่จะได้รับฝุ่น PM2.5 เข้าไปได้ในปริมาณมากเมื่อเทียบกับน้ำหนักตัว และเด็กๆ ยังมีแนวโน้มที่จะไม่ยอมใส่เครื่องป้องกันอย่างหน้ากากอนามัยอีกด้วย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ยังเปิดเผยอีกว่า ความรุนแรงของฝุ่น PM2.5 เมื่อเด็กสูดเข้าไปจะสามารถแทรกซึมเข้าสู่ร่างกาย และทำลายระบบต่างๆ ได้ รวมไปถึงด้วยความที่เด็กๆ จะมีอัตราการหายใจที่ถี่กว่าผู้ใหญ่ ทำให้มีโอกาสที่จะสูดมลพิษเข้าไปได้มากกว่า เรียกว่ายิ่งเด็กอายุน้อยเท่าไหร่ อัตราการหายใจเข้าต่อนาทีก็ยิ่งถี่มากขึ้นเท่านั้น หรือแม้แต่เด็กที่อยู่ในครรภ์ ฝุ่นนี้สามารถเข้าไปทำลายเซลล์สมอง และส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางสติปัญญา ทำให้ส่งผลต่อการเรียนรู้ในระยะยาวได้เลยทีเดียว

 

แพ้ฝุ่น pm 2.5 อาการ​

เมื่อลูกน้อยมีอาการแบบนี้…อย่านิ่งนอนใจ

ระบบทางเดินหายใจมักจะเป็นระบบของร่างกายที่โดนผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 มากที่สุด ซึ่งในเด็กที่เขาอาจจะยังสื่อสารไม่ได้หรือสื่อสารได้ไม่ชัดเจนเหมือนผู้ใหญ่ การสังเกตของคุณพ่อคุณแม่จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะอย่างที่บอกว่าฝุ่น PM2.5 นั้นมีอนุภาพเล็กมาก ทำให้สามารถผ่านขนจมูกเข้าสู่ทางเดินหายใจได้อย่างง่ายดาย ทำให้ไปรบกวนการทำงานของอวัยวะต่างๆ จนเกิดเป็นปัญหาสุขภาพทั้งในระยะสั้น เช่น ทำให้ไอ จาม ระคายเคืองตา แสบตา ตาแดง ระคายเคืองผิวหนัง เกิดผื่นคัน ไปจนถึงปัญหาสุขภาพในระยะยาวต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น มะเร็งปอด ระบบหัวใจและหลอดเลือด หัวใจวาย ความดันโลหิตสูง ทารกคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวน้อย และกระทบไปถึงพัฒนาการและระบบสมองของทารกได้ด้วย ดังนั้นเมื่อไหร่ที่เริ่มเห็นเด็กมีอาการ น้ำมูกไหล ไอ จาม แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หายใจถี่ มีเสียงวี๊ด แสบตา น้ำตาไหล ตาแดง ให้คุณพ่อคุณแม่รีบพาไปพบกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อตรวจร่างกายให้ละเอียด อย่าปล่อยทิ้งไว้และคิดว่าเป็นแค่อาการหวัดธรรมดา

 

ป้องกันภูมิแพ้ PM 2.5​

 

ปกป้องสุขภาพลูกน้อยอย่างไร…ให้ห่างไกล PM2.5

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะนำวิธีปกป้องเด็กๆ จากอันตรายของฝุ่น PM2.5 ไว้ว่าหากไม่จำเป็นควรหลีกเลี่ยงการพาเด็กๆ ออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน รวมถึงไม่พาไปในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นสูงเกินกว่ามาตรฐาน หรือหากต้องการออกจากบ้านควรสวมหน้ากาก N95 ด้วย

นอกจากนี้การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยลดผลกระทบต่อสุขภาพจากการรับสัมผัสฝุ่นละอองได้เบื้องต้น โดยเฉพาะเด็กที่มีโรคภูมิแพ้ เพราะจะช่วยชำระล้างสิ่งสกปรกอย่างน้ำมูก หรือสารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ที่อยู่ภายในโพรงจมูกได้ รวมฝุ่นละอองจากสภาพอากาศที่มีมลภาวะสูงมาก ซึ่งการล้างจมูกที่ถูกวิธี ไม่ได้เป็นอันตรายต่อร่างกาย