
ปรัชญา ‘ลา-กอม’ ปรับใช้กับลูกยังไงให้กลมกล่อม
ในทุกครอบครัวย่อมมีวิธีการเลี้ยงลูกที่ต่างกันออกไป เพราะแต่ละบ้านย่อมมีความเชื่อ สภาพแวดล้อม หรือแม้กระทั่งวิธีคิดของพ่อแม่ ทำให้ไม่มีสูตรสำเร็จที่ตายตัวในการเลี้ยงดูที่เหมาะกับทุกคน แต่สิ่งที่หลายครอบครัวมุ่งหวังคือการสร้างลูกให้เติบโตเป็นคนดี มีความสุข และประสบความสำเร็จในชีวิต การเลี้ยงลูกแบบสายกลางที่ไม่กดดันมากจนเกินไปและไม่ผ่อนปรนเกินไปอาจเป็นแนวทางที่ดีที่ช่วยให้เด็กเติบโตอย่างสมดุล มารู้จักกับปรัชญาลา-กอม (Lagom) จากประเทศสวีเดน
ปรัชญา ลา-กอม คืออะไร?
‘ลา-กอม (Lagom)’ มีความหมายว่า “ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป แต่พอดี” โดยคำว่า “ลา-กอม” แสดงถึงแนวคิดการมีชีวิตแบบพอดี ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่ขาดแคลน ถือว่าเป็นทางสายกลางที่นำไปสู่ความสุขอย่างยั่งยืน และเป็นสิ่งที่ชาวสวีเดนยึดถือมาอย่างยาวนาน โดยคำว่า “Lagom är bäst” ในภาษาสวีเดนแปลว่า "ความพอดี ดีที่สุด" สุภาษิตนี้แสดงถึงความเชื่อในสมดุลในชีวิต มีการสันนิษฐานว่า คำว่า ‘ลากอม’ อาจมีที่มาจากภาษาไวกิ้ง โดยวลีที่ว่า “Laget Om” หมายถึง “สำหรับทุกคน” และความพอดีนี้ได้พัฒนากลายเป็นแนวคิดการใช้ชีวิตอย่างสมดุลของชาวสวีเดนในยุคปัจจุบัน
ความพอดีช่วยสร้างสมดุลในการเลี้ยงดูลูก
-
ไม่เคร่งครัดเกินไป ไม่ปล่อยปละละเลย
พ่อแม่สามารถใช้หลักลา-กอม ในการจัดการกฎระเบียบในบ้านโดยการสร้างกฎที่มีเหตุผลและไม่เข้มงวดจนเกินไป เพื่อปลูกฝังความรับผิดชอบ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรปล่อยให้ลูกทำอะไรก็ได้ตามใจ
-
ยืดหยุ่นตามสถานการณ์
พ่อแม่ไม่ยึดติดกับการคาดหวังว่าลูกจะต้องมีพฤติกรรมแบบใดแบบหนึ่งเสมอ แต่เป็นการเปิดรับความเป็นตัวของลูก ให้ลูกได้ลองผิดลองถูก และเรียนรู้จากประสบการณ์ในแบบของตัวเอง ซึ่งจะทำให้ลูกมีความมั่นใจในการเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ
-
การให้พื้นที่และเวลาส่วนตัว
ควรให้เวลาและพื้นที่ส่วนตัวแก่ลูก เพื่อให้เขาได้มีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอย่างอิสระ เช่น การให้ลูกได้เล่นคนเดียวหรือได้คิดแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง จะช่วยให้เขามีทักษะในการแก้ไขปัญหาและเพิ่มความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น
-
เน้นความสมดุลระหว่างการเรียน การเล่น และการพักผ่อน
การเลี้ยงลูกตามหลักลา-กอม สามารถช่วยให้พ่อแม่ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพกายและใจของลูก โดยไม่ให้ความสำคัญไปที่ด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป
-
เน้นชีวิตที่เรียบง่ายและมีคุณค่า
ส่งเสริมการลดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็นและเลือกสิ่งที่มีคุณค่าที่แท้จริง เน้นความสำคัญของความสัมพันธ์ในครอบครัวและการใช้เวลาด้วยกัน เช่น การอ่านหนังสือด้วยกัน การเล่นเกมในครอบครัว ฃก็ช่วยสร้างความผูกพันและความสุขที่แท้จริงระหว่างพ่อแม่และลูก โดยไม่ต้องพึ่งพาของเล่นราคาแพง หรือสวนสนุกนอกบ้าน
-
การเรียนรู้จากข้อผิดพลาด
เมื่อเกิดข้อผิดพลาด ควรใช้โอกาสนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญในการสอนให้ลูกเห็นคุณค่าของการเรียนรู้จากประสบการณ์และปรับปรุงตัวเอง พ่อแม่คอยให้กำลังใจ ชี้แนะให้คำปรึกษาเมื่อลูกต้องการ และไม่ตัดสินลูกด้วยความผิดพลาดนั้น
เลี้ยงลูกไม่มีตายตัว แต่ลงตัวและกลมกล่อม
การเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยเป็นช่วงเวลาที่สำคัญและมีผลต่อการพัฒนาและการเจริญเติบโตของเด็ก อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้องในการเลี้ยงดูมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมในครอบครัวที่มีคนหลากหลาย เด็กได้รับความรักจากคนหลายวัย พ่อแม่ควรหาจุดสมดุลในการแบ่งปันความรักและความสนใจ โดยไม่ให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองสำคัญกว่าคนอื่น ฝึกเด็กให้รู้จักการแบ่งปัน การเคารพผู้อื่น และการเข้าใจถึงบทบาทของสมาชิกในครอบครัว จะช่วยให้เด็กพัฒนาความสัมพันธ์ทางสังคมได้อย่างดี
ท้ายที่สุดการเลี้ยงดูลูกจึงไม่มีสูตรตายตัว แต่ละบ้านจะต้องปรับวิธีการเลี้ยงดูลูกให้เหมาะสมตามสภาพแวดล้อมและบุคลิกภาพของเด็ก แต่ที่สำคัญที่สุดคือการเลี้ยงดูด้วยความรัก ความเข้าใจ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว พ่อแม่และผู้ปกครองจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีรับมือและปรับใช้ให้เหมาะสม เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและสมดุลทั้งทางอารมณ์ จิตใจ ลูกจะมีความสุขกับการใช้ชีวิตเรียบง่าย รู้จักคุณค่าของสิ่งที่มี และเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่รู้จักสร้างความสุขจากภายใน ยึดหลัก “ไม่มากไปไม่น้อยไป พอดี ๆ นี่แหละดีที่สุด”
ข้อมูลอ้างอิง