
รู้จักกับ Copycat ป้องกันพฤติกรรมเลียนแบบ สอนลูกยังไงให้พ้นจากภัยโซเชียล
เพราะเรารู้ว่าการเป็นพ่อแม่ ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะเก่งได้ในชั่วข้ามคืน แต่มันมันคือเส้นทางการเรียนรู้ที่สวยงาม ที่ตัวเราเองจะได้เติบโตขึ้นไปพร้อมกับลูกๆ Prudential จึงจับมือกับกับ UNICEF ขอร่วมเป็น #ทีมพ่อแม่ เพื่อร่วมเดินทางเคียงข้างพ่อแม่ทุกคน ไปกับ #ParentingJourney ในบทความนี้เราจะช่วยคุณพ่อคุณแม่ ปกป้องลูกจากพฤติกรรมเลียนแบบที่ไม่เหมาะสม ซึ่งอาจจะมีผลกระทบและผลเสียต่อลูกในอนาคตได้
พฤติกรรมลอกเลียนแบบในเด็ก
พฤติกรรมลอกเลียนแบบ (Imitation Behavior) หรือ Copycat หมายถึงคนที่มีนิสัยชอบลอกเลียนแบบพฤติกรรมของคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นการลอกเลียนแบบพฤติกรรมของคนดัง เพื่อให้ตัวเองได้รับความสนใจหรือเป็นที่รู้จัก การก่ออาชญากรรมในลักษณะเดียวกับอาชญากรที่เคยเป็นข่าว และยังรวมถึงพฤติกรรมลอกเลียนแบบในเด็กด้วย โดยพฤติกรรมนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัย โดยเฉพาะพฤติกรรมลอกเลียนแบบในเด็ก เกิดจากพัฒนาการของเด็กในช่วงวัยหนึ่ง จะเริ่มสังเกต เรียนรู้ และซึมซับพฤติกรรมจากแหล่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคนใกล้ตัว ครอบครัว เพื่อน สื่อ สังคมออนไลน์ ยิ่งพฤติกรรมนั้นส่งผลต่อจิตใจและอารมณ์ของเด็กมากเท่าไร ก็มีโอกาสที่เด็กจะจดจำ ลอกเลียนแบบและนำมาเป็นพฤติกรรมของตัวเองมากขึ้น มีงานวิจัยจากนักจิตวิทยาหลายชิ้น เผยว่า พฤติกรรมลอกเลียนแบบเป็นสัญชาตญาณตามธรรมชาติของมนุษย์ โดยเฉพาะในวัยเด็ก เพราะการลอกเลียนแบบทำให้เกิดการเรียนรู้ขั้นพื้นฐาน และนำไปสู่กระบวนการพัฒนาต่อไปในอนาคต ยิ่งไปกว่านั้นการเลียนแบบยังช่วยให้มนุษย์รู้สึกกลมกลืนและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสังคมรอบตัวอีกด้วย
ลูกจะพฤติกรรมดีหรือแย่ อยู่ที่สิ่งแวดล้อมรอบตัว
พฤติกรรมที่เด็กเลียนแบบ จะมีผลต่อพฤติกรรมและบุคลิกภาพของเด็กในระยะยาว และสามารถส่งผลไปในทางที่ดีหรือแย่ได้ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก ซึ่งประกอบไปด้วย
1. ครอบครัว คนใกล้ชิดก็มีอิทธิพลมาก
ครอบครัวเป็นสภาพแวดล้อมและเป็นแหล่งการเรียนรู้แรกที่สำคัญที่สุดสำหรับเด็ก เด็กจะได้รับอิทธิพลโดยตรง เด็กจะมองพ่อแม่และผู้ปกครองเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติตน ซึ่งการที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองเป็นแบบอย่างที่ดี มีพฤติกรรมที่ดีและเหมาะสม จะทำให้เด็กเลียนแบบและนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ ในทางตรงกันข้าม ถ้าครอบครัวมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การใช้ความรุนแรง ก้าวร้าว พ่อแม่ทะเลาะกันบ่อยครั้ง การใช้อารมณ์ เสียงดังโวยวาย เด็กก็อาจเลียนแบบพฤติกรรมเชิงลบเหล่านั้น และแสดงออกในทางที่ไม่เหมาะสม ซึ่งมีหลายกรณีที่การเลียนแบบพฤติกรรมของเด็กปรากฏในข่าว ตั้งแต่การบูลลี่ กลั่นแกล้งกัน ไปจนถึงพฤติกรรมการสูบบุหรี่ เช่น “พบเด็กไทยอายุ 9 ขวบ เริ่มสูบบุหรี่เพราะเลียนแบบคนใกล้ชิด”
2. โซเชียลมีเดีย และสื่อออนไลน์ต่างๆ ที่ลูกดู
ในยุคที่เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน เด็กสามารถเข้าถึงข้อมูลและพฤติกรรมจากโซเชียลมีเดียได้ง่ายขึ้น การที่เด็กได้เห็นการกระทำและพฤติกรรมของบุคคลที่เขาชื่นชอบหรือมีอิทธิพลต่อเขา อาจทำให้เด็กเลียนแบบพฤติกรรมนั้น ๆ โดยไม่รู้ว่าพฤติกรรมนั้นเหมาะสมหรือไม่ หากเด็กใช้สื่อออนไลน์ที่มีเนื้อหาที่ดี คอนเทนต์ที่ดี ก็สามารถใช้โซเชียลมีเดียเป็นแหล่งหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ การเรียนรู้แบบไร้ขีดจำกัด ในทางตรงกันข้าม ถ้าเด็กได้รับสื่อที่มีเนื้อหาที่รุนแรง มีการใช้ภาษาไม่เหมาะสม การเล่นเกมออนไลน์ที่มีเนื้อหารุนแรง อาจจะส่งผลกระทบทางลบและทัศนคติที่ไม่ดีของเด็ก เช่น เด็กอาจจะมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าว เลียนแบบการกระทำที่ผิด ๆ และเป็นที่น่าตกใจเมื่อมีข่าวเด็กเลียนแบบพฤติกรรมไม่ดี จนสร้างผลกระทบที่รุนแรงบ่อยครั้ง เช่น “เด็กเสียชีวิตจากการติดเกมออนไลน์ เนื่องจากมีพฤติกรรมเลียนแบบในเกมที่มีเนื้อหารุนแรง” หรือ “เด็กนักเรียนถูกบูลลี่จากเพื่อนร่วมชั้น” ไปจนถึง “เด็กนักเรียนขโมยปืนพ่อ พร้อมเตรียมถุงมือ หน้ากาก แต่งตัวเหมือนในเกมแล้วมายิงเพื่อนเสียชีวิต” เป็นต้น
พ่อแม่จะทำยังไง…ให้ลูกท่องโลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย
โลกออนไลน์มีเนื้อหาที่มีประโยชน์กับเด็กเยอะมาก ๆ แต่เราต่างก็รู้ว่ามันไม่ใช่ที่ปลอดภัยสำหรับเด็กเสมอไป พ่อแม่จะช่วยให้ลูกใช้ประโยชน์จากโลกออนไลน์ได้เต็มที่ โดยที่ยังปลอดภัยอยู่นั้นมีอะไรบ้าง
-
สร้างสภาพแวดล้อมที่ดี จำกัดการเข้าถึงสื่อที่ไม่เหมาะสม พ่อแม่ควรตรวจสอบเนื้อหาและเลือกสื่อที่เหมาะสมกับวัยของลูก เพื่อให้ลูกไม่ต้องหมกมุ่นกับหน้าจอจนเกินไป
-
สอนเรื่องร่องรอยดิจิทัล (Digital Footprint) บอกให้ลูกรู้ว่า ทุก ๆ สิ่งที่เขาโพสต์บนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะรูปภาพ วิดิโอ คอมเมนต์ใดๆ มันจะอยู่บนนั้นตลอด ไม่หายไปไหน ไม่ว่าใครมาค้นหาเมื่อไหร่ก็จะเจอว่าใครเป็นคนโพสต์ จึงควรระมัดระวังทุกอย่างที่จะปล่อยออกไปบนโลกออนไลน์
-
นึกถึงใจเขาใจเราเสมอ ทีมพ่อแม่สามารถปลูกฝังให้ลูกรู้ตั้งแต่เด็กว่า การกลั่นแล้งและการส่งต่อเนื้อหาที่ไม่ดีเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นการกระจายข่าวลือที่ไม่จริง การส่งต่อรูปภาพและข้อความที่จะทำให้ใครเจ็บปวด อับอาย หรือดูเป็นตัวตลก สิ่งเหล่านี้สามารถสร้างแผลใจให้คนอื่นได้
-
ตั้งกฎการใช้อุปกรณ์ร่วมกัน ลองใช้เวลาช่วยกันตั้งกฎในการใช้มือถือหรือแทบเล็ตด้วยกัน จะใช้อย่างไร เมื่อไหร่ ที่ไหนบ้าง เมื่อเรามีกรอบของการใช้งานร่วมกันแล้ว เด็ก ๆ จะสามารถใช้งานอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้พอดีและไม่ทำร้ายสุขภาพ
-
พูดคุยกับลูกอย่างเปิดกว้างเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาพบเจอในชีวิตประจำวัน และรับฟังความคิดเห็นของลูก สอนลูกให้สื่อสารอย่างสุภาพ และไม่ลืมที่จะชื่นชมและให้กำลังใจ เมื่อเห็นลูกทำพฤติกรรมที่ดี เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจว่าสิ่งที่ลูกทำเป็นสิ่งที่ดีและถูกต้อง
อ้างอิง