เลือกภาษา
close
พ่อแม่สูงวัยเริ่มเป็นอัลไซเมอร์

พ่อแม่สูงวัย
เริ่มเป็นอัลไซเมอร์
รับมือยังไงให้ยังไหวที่สุด

“โรคอัลไซเมอร์” เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาหายขาดได้ แต่หากเดอะแบกสังเกตเห็นความผิดปกติของผู้สูงวัยในบ้านได้ไว ตรวจพบได้เร็ว การใช้ยาควบคุมอาการไม่ให้แย่ลงตั้งแต่ระยะแรกๆ รวมถึงการดูแลใส่ใจของลูกหลาน ก็จะช่วยชะลอความรุนแรงของโรคได้ เพราะฉะนั้น ชาวเดอะแบกที่ต้องดูแลผู้สูงวัยในบ้านป่วยเป็นอัลไซเมอร์ จึงควรรู้วิธีรับมือ เพื่อให้สามารถดูแลผู้ป่วยและตัวเองให้สุขภาพใจดี เพื่อที่สุขภาพสมองจะได้ดีด้วย

 

 

ผู้สูงอายุในบ้านเสี่ยงอัลไซเมอร์หรือเปล่า? นี่คือสัญญาณเตือนสำคัญ

ระยะเริ่มต้น : ผู้ป่วยจะมีอาการหลงลืม ถามซ้ำๆ พูดซ้ำๆ ในเรื่องเดิม อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย เครียดและซึม แต่ยังสามารถทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ได้

ระยะกลาง : ผู้ป่วยจะมีอาการความจำแย่ลง พฤติกรรมเปลี่ยนคนละขั้ว เช่น เดิมเป็นคนใจเย็นก็จะกลายเป็นขี้หงุดหงิดฉุนเฉียว หากเดิมเป็นคนอารมณ์ร้อนก็จะกลายเป็นเงียบขรึม

ระยะท้าย : ผู้ป่วยเริ่มตอบสนองต่อสิ่งรอบข้างน้อยลง ทานอาหารได้น้อยลง เคลื่อนไหวน้อยลง หรือไม่เคลื่อนไหว ไม่พูดจา และช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ภูมิคุ้มกันค่อยๆ อ่อนแอลง นำไปสู่การติดเชื้อและเสียชีวิต

 

 

เดอะแบกควรรับมือยังไง? เมื่อผู้สูงวัยในบ้านเป็นอัลไซเมอร์

- ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโรค และวางแผนการดูแล

เพราะโรคอัลไซเมอร์ไม่ใช่แค่โรคที่สูญเสียความทรงจำ แต่ยังกระทบต่ออารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด การสื่อสาร และกินระยะเวลายาวนานนับสิบปี เดอะแบกจึงต้องวางแผนการดูแลที่ครอบคลุม ทั้งด้านการเงิน สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย ภายใต้ความรู้ความเข้าใจในตัวโรค เพื่อให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

- มอบความรักและพูดคุยกับผู้ป่วยอยู่เสมอ

แม้ผู้ป่วยจะไม่สามารถจดจำเรื่องราวในอดีตได้ แต่เขาก็ยังคงต้องการความรักความเอาใจใส่ การกอด การพูดคุย บอกเล่าให้เขารู้ว่าจะทำอะไรหรือให้ทำอะไร ด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวล ท่าทางที่เป็นมิตร และไม่คะยั้นคะยอมากเกินไปเมื่อผู้ป่วยทำไม่ได้และเริ่มมีอาการหงุดหงิด

- หลีกเลี่ยงการโต้เถียง

หนึ่งในความยากของการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ คือการสื่อสาร ที่อาจทำให้เกิดความหงุดหงิดใจทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าผู้ป่วยจะเป็นฝ่ายถูกหรือผิด ให้หลีกเลี่ยงการโต้เถียง ไม่อธิบายเหตุผลยืดยาว ไม่ใช้คำพูดที่เข้าใจยากซับซ้อน และเปลี่ยนจุดสนใจใหม่ด้วยการชวนทำกิจกรรมที่คุ้นเคยและผู้ป่วยชอบ

- วางแผนการทำกิจกรรมในแต่ละวัน

ในกรณีที่ตรวจพบโรคตั้งแต่ระยะแรกๆ ผู้ป่วยจะยังสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ เดอะแบกควรกำหนดตารางกิจวัตรประจำวันให้เหมือนกันในทุกวัน ไม่เปลี่ยนไปมาหรือเพิ่มเติมเยอะเกินไปจนผู้ป่วยรู้สึกสับสน ไม่ว่าจะเดินออกกำลังกายตอนเช้า 15-20 นาที ปลูกต้นไม้ร่วมกันวันละ 1 ต้น หรือสวดมนต์ช่วงค่ำทุกคืนก่อนนอน สิ่งเหล่านี้จะช่วยชะลอความเสื่อมของสมองผู้ป่วยได้

- จัดการปรับสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้ปลอดภัยและไม่เปลี่ยนบ่อยๆ

ไม่วางของเกะกะตลอดทางเดินที่ผู้ป่วยต้องใช้งานเพื่อไปยังจุดต่างๆ ของบ้าน และควรทำราวจับกันลื่นเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ รวมถึงปรับให้ภายในบ้านโดยเฉพาะบริเวณที่ผู้ป่วยใช้งานมีแสงสว่างที่เพียงพอ เช่น ติดตั้งหลอดไฟเพิ่ม หรือเปิดม่านหน้าต่าง เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกปลอดภัย ไม่หวาดระแวงหรือเห็นภาพหลอนได้

 

ดูแลใส่ใจผู้ป่วยแล้ว เดอะแบกอย่าลืมให้ความสำคัญกับสุขภาพกายและใจของตัวเองด้วย เพราะการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์อาจสร้างความเครียดให้เดอะแบกไม่น้อย ดังนั้น ควรหาเวลาให้ตัวเองได้ทำกิจกรรมที่รัก เช่น ดูซีรีส์ดูคลิปตลก ฟังเพลง และไม่ควรเก็บความเครียดความกดดันไว้เพียงลำพัง หากไม่สามารถพูดคุยกับใครได้ การปรึกษาขอคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคอัลไซเมอร์ ก็เป็นอีกทางเลือกที่ดีทั้งสำหรับเดอะแบกและผู้ป่วย