
เฝ้าระวัง! สัญญาณเตือน เมื่อ PM2.5 กำลังทำลายสุขภาพและพัฒนาการลูกน้อย
ถึงแม้ว่าเราจะอยู่กับฝุ่น PM 2.5 มานานหลายปีแล้ว แต่ความหนาแน่นของฝุ่น PM 2.5 ก็ดูไม่ลดน้อยลงเลย แถมดูจะยิ่งเพิ่มความรุนแรงขึ้นด้วยซ้ำ และยิ่งนานวันเข้าก็ยิ่งเห็นผลกระทบต่อสุขภาพที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ เห็นได้จากตัวเลขของทางสำนักข่าวเอเอฟพี ได้มีการรายงานว่าเพียงแค่ช่วง 2 เดือนกว่า ๆ ของปี 2567 ก็เจอผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศไปแล้วกว่า 1.6 ล้านคน และที่น่ากังวลขึ้นไปอีกสำหรับคนเป็นพ่อเป็นแม่อย่างเราก็คือ ลูก ที่เริ่มกลายเป็นกลุ่มที่ได้ผลกระทบจากฝุ่นพิษนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ
เลือดกำเดาไหล สัญญาณเตือนพิษจาก PM 2.5
เนื่องจากเด็ก ๆ ถือเป็นกลุ่มที่อ่อนไหวง่าย ทำให้อาจจะได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM ได้ชัดเจนกว่าผู้ใหญ่ ซึ่งอาการที่คุณพ่อคุณแม่พอจะใช้สังเกตลูกน้อยได้เบื้องต้นว่าอาจจะได้รับอันตรายจากฝุ่นพิษนี้ก็คือ อาการแสบจมูก น้ำมูกไหล หายใจไม่สะดวก ไอ มีเสมหะ เจ็บคอ หรือบางรายอาจมีการระคายเคืองผิวหนัง มีผื่นคันเกิดขึ้นในบริเวณที่สัมผัสกับฝุ่นพิษ ในขณะเดียวกันเรามักจะได้ยินอยู่บ่อยๆ ว่า ‘เลือดกำเดาไหล’ มักจะเป็นอีกหนึ่งอาการที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ ได้ เมื่อสูดดมฝุ่นพิษเข้าไป ซึ่งเราจะอธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ ว่า เมื่อเราสูดดมเอาควันพิษเข้าไป ก็อาจทำให้เกิดการอักเสบบริเวณเยื่อบุในช่องจมูก และไปกระตุ้นทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะเด็กๆ ที่อาจเกิดการอักเสบได้ง่ายกว่าในผู้ใหญ่
เมื่อพัฒนาการเด็ก ถูกทำร้ายด้วยฝุ่น PM 2.5
ความร้ายกาจของฝุ่นพิษ ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะทางองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้อธิบายถึงผลกระทบของมลพิษในอากาศต่อพัฒนาการทางสมองและสุขภาพเด็กว่า ด้วยความที่ฝุ่นควันขนาดเล็กจากมลพิษในอากาศ หรือที่เราเรียกกันว่า PM 2.5 นั้นมีขนาดเล็กกว่าความกว้างของเส้นผมคนเราถึง 25 เท่า เวลาที่เราหายใจเข้า ฝุ่นจิ๋วตัวร้ายนี้ก็จะพุ่งตัวเข้าไปในร่างกายผ่านทางจมูกและปาก ผ่านทางเดินหายใจจนไปถึงถุงลมส่วนที่ลึกที่สุดของปอด ก่อนจะแทรกตัวผ่านผนังถุงลมเข้าสู่กระแสเลือด และเคลื่อนตัวไปยังอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย และส่งผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะเหล่านั้น ซึ่งนอกจากอวัยวะสำคัญ ๆ อย่าง ปอด หัวใจ ระบบภูมิคุ้มกันแล้ว สมองที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาก็โดนผลกระทบไปด้วย
ซึ่งสมองนั้นจะพัฒนาได้เร็วที่สุดในช่วงแรกเกิด และพัฒนาอย่างต่อเนื่องไปจนถึงวัยรุ่น ซึ่งมีบทบาทสำคัญในเรื่องความจำของเด็ก ความสนใจระยะสั้น การควบคุมอารมณ์ และการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งเมื่อฝุ่นจิ๋วตัวร้ายได้เข้าไปถึงสมองของเด็กที่กำลังพัฒนา ก็จะเข้าไปสร้างความเสียหายให้เซลล์สมอง ทำให้เกิดความบกพร่องในพัฒนาการทางสติปัญญาและความสามารถในการเรียนรู้ ที่อาจจะส่งผลร้ายแรงต่อสวัสดิภาพ และศักยภาพในการใช้ชีวิต
เมื่อฝุ่นจิ๋ว…พุ่งโจมตีถึงเซลล์สมอง
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาจาก WHO ที่ชี้ว่าฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นอนุภาคขนาดเล็กจิ๋วนั้นสามารถเข้าไปสะสมอยู่ที่สมองได้จริง ซึ่งช่องทางที่ฝุ่นพิษนี้จะเข้าไปสู่เซลล์สมองนั้นมีอยู่หลักๆ ประมาณ 3 ช่องทาง คือ ผ่านผนังโพรงจมูกซึ่งอยู่ติดกับสมองรับกลิ่น โดยจะซึมผ่านขึ้นไปที่สมองส่วนหน้าด้านล่าง หรือฝุ่นนี้อาจผ่านเข้าไปทางปอด ไปถึงหลอดลม แล้วซึมเข้าสู่กระแสเลือดที่ไหลเวียนไปยังสมองได้เช่นกัน และอีกหนึ่งช่องทางที่จะทำให้ฝุ่นพิษนี้เข้าสู่สมองได้ คือผ่านเข้าสู่ทางเดินอาหาร โดยการกลืนลมที่มีฝุ่น และถูกดูดซึมสู่กระแสเลือด
ที่ลูกสมาธิสั้น อาจเป็นผลกระทบจาก PM2.5
อย่างที่บอกว่า ฝุ่น PM 2.5 นั้นสามารถส่งผลต่อสมองของเด็กได้ ซึ่งจะกระทบต่อพัฒนาการ และอาจทำให้สติปัญญา หรือสิ่งที่เราเรียกกันว่า IQ นั้นต่ำลง รวมไปถึงอาจทำให้เกิดปัญหา ‘สมาธิสั้น’ ได้เช่นกัน ซึ่งโรคสมาธิสั้น คือภาวะผิดปกติทางจิตเวชที่ทำให้เด็กขาดการควบคุมการเคลื่อนไหว ซุกซน วอกแวกง่าย ไม่อยู่นิ่ง และแม้ว่าจะไม่ได้มีสาเหตุที่ชัดเจน แต่หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดได้ก็คือการที่สมองส่วนหน้าซึ่งเป็นส่วนที่ทำหน้าที่ในการควบคุมสมาธิและการยับยั้งชั่งใจทำงานน้อยกว่าปกตินั่นเอง
ปกป้องสุขภาพลูกน้อย ให้ห่างไกลพิษ PM
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาแนะนำวิธีป้องกันลูกน้อยจากฝุ่นพิษ ไว้ว่า อันดับแรกควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน ไม่เข้าไปในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นพิษสูงเกินมาตรฐาน หรือถ้าเลี่ยงไม่ได้ควรหาตัวช่วย เช่น หน้ากาก N95 สำหรับเด็ก 2 ปีขึ้นไป แต่หากเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี หรือเด็กทารกไม่แนะนำให้ออกจากบ้าน หรือ หากอยู่ในบ้านก็ควรปิดประตูหน้าต่างให้สนิท และเปิดเครื่องฟอกอากาศที่มีแผ่นกรอง HEPA อีกสิ่งหนึ่งที่พอจะช่วยบรรเทาได้คือการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเป็นประจำก็จะช่วยให้เด็กๆ หายใจได้โล่งขึ้น และยังช่วยชะล้าสิ่งสกปรกออกได้เบื้องต้น
และเมื่อไหร่ที่คุณพ่อคุณแม่เริ่มสังเกตพบว่าลูกมีอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบากหรือมีผื่นคันตามร่างกาย ให้รีบพาไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและวางแผนการรักษาได้อย่างทันท่วงที
ข้อมูลอ้างอิง