เลือกภาษา
close
ดูแลผิวไม่ให้พัง ในวันที่ฝุ่น PM 2.5 ครองเมือง
เคล็ด (ไม่) ลับ น่ารู้ - พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต

ดูแลผิวไม่ให้พัง ในวันที่ฝุ่น PM 2.5 ครองเมือง

เมื่อผิวคือด่านแรกที่ต้องเผชิญกับมลภาวะ ทั้งฝุ่น ควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ผิวจึงได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างเลี่ยงไม่ได้ กรมการแพทย์ยืนยันแล้วว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 สามารถเข้าสู่ผิวหนัง ผ่านทางรูเปิดของผมหรือขนได้โดยตรง และยังสามารถเข้าสู่ผิวหนังที่อยู่ในภาวะไม่ปกติ เช่น ผิวหนังที่เป็นโรคภูมิแพ้ โรคผื่นผิวหนัง และเข้าไปกระตุ้นทำให้ผื่นกำเริบหนักขึ้นมาได้ นอกจากนี้ ฝุ่น PM 2.5 ยังทำให้เกิดสารออกซิแดนซ์ หรือสารอนุมูลอิสระ ซึ่งทำลายเซลล์ผิวชั้นนอก และเซลล์ผิวภายใน ทำให้ผิวเกิดการเสื่อมสภาพ ทำให้เกิดริ้วรอย ผิวหมองคล้ำ และสูญเสียโปรตีนภายในเซลล์ ที่ร้ายไปกว่านั้น เจ้าฝุ่น PM 2.5 สามารถจับตัวกับสารเคมีหรือโลหะต่าง ๆ และเข้าสู่ผิวหนัง ไปทำร้ายเซลล์ผิวหนังโดยตรง ทำให้การทำงานของเซลล์ผิวหนังผิดปกติ กระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบ ทำให้เกิดผื่นคัน ผดแดง และเกิดการระคายเคืองต่าง ๆ มากมาย

 

เริ่มต้นปี 2568 พบผู้ป่วยจากฝุ่น PM 2.5 ทะลุหลักแสน!

เป็นที่น่ากังวลว่าในต้นปี พ.ศ. 2568 ก็มีรายงานจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ว่ามีการเข้ารับบริการในโรงพยาบาล จากมลพิษทางอากาศ PM 2.5 ทั้งหมดถึง 127,053 คนโดยกลุ่มโรคที่ตรวจพบ 3 อันดับแรก คือ

อันดับ 1 โรคเยื่อตาขาวอักเสบ (43,594 ครั้ง)

อันดับ 2 โรคหอบหืดเฉียบพลัน (24,967 ครั้ง)

อันดับ 3 โรคผิวหนังอักเสบ (18,731 ครั้ง)

 

นอกจากนี้ยังมีโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหอบหืดเฉียบพลัน โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โรคหัวใจขาดเลือดจากกล้ามเนื้อตาย โรคเยื่อตาขาวอักเสบ โรคผิวหนัง เช่น กลากเกลื้อนและลมพิษ

(ข้อมูล ณ วันที่ 1 - 23 มกราคม 2568)

 

6 สัญญาณเตือนว่าฝุ่น PM 2.5 กำลังทำร้ายผิวของคุณ

 

6 สัญญาณเตือนว่าฝุ่น PM 2.5 กำลังทำร้ายผิวของคุณ

ลองมาเช็กดูหน่อย เข้าฤดูฝุ่นทีไร ผิวคุณมีอาการเหล่านี้หรือเปล่า?

  1. ผิวแห้ง ขาดน้ำ แตกเป็นขุย ฝุ่นละออง PM 2.5 สามารถดึงความชุ่มชื้นออกจากผิวได้ ทำให้ผิวแห้งตึง รู้สึกคัน ผิวลอกแตกเป็นขุย และขาดความยืดหยุ่น แม้จะทาครีมบำรุงก็ยังรู้สึกว่าผิวไม่อิ่มน้ำเหมือนเดิม บางรายอาจเป็นผดผื่นแดง และอาจมีตุ่มขึ้นตามผิวหนัง

  2. ผิวหมองคล้ำ ดูโทรมกว่าปกติ ฝุ่นละออง และมลภาวะไปกระตุ้นให้เกิดสารอนุมูลอิสระ ซึ่งทำลายเซลล์ผิว ส่งผลให้ผิวดูหมองคล้ำ ไม่กระจ่างใส และดูโทรมลงอย่างเห็นได้ชัด

  3. มีจุดด่างดำ ฝ้า และกระเพิ่มขึ้น การสะสมของมลพิษอย่าง PM 2.5 บนผิว กระตุ้นให้เซลล์เม็ดสีทำงานผิดปกติ ทำให้เกิดจุดด่างดำ ฝ้า และกระง่ายขึ้น

  4. ผิวแก่ก่อนวัย ริ้วรอยมาเร็วขึ้น ฝุ่น PM 5 มีผลต่อการลดประสิทธิภาพของคอลลาเจน (Collagen) และอีลาสติน (Elastin) ในผิว ทำให้ผิวสูญเสียความกระชับ และเกิดริ้วรอยเร็วขึ้น หากไม่ได้รับการปกป้องที่ดีพอ

  5. มีผื่นแดง คัน ระคายเคืองง่าย ฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศสามารถทำให้เกิดอาการแพ้ และระคายเคืองผิวได้ โดยเฉพาะในผู้ที่มีผิวบอบบาง หรือเป็นโรคผิวหนัง เช่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง หรือโรคสะเก็ดเงิน โรคผิวหนังเรื้อรัง ภูมิแพ้ ลมพิษ อาจมีอาการกำเริบและหนักขึ้นกว่าคนทั่วไป

  6. มีสิวอุดตัน และสิวอักเสบเพิ่มขึ้น พอค่าฝุ่น PM 2.5 สูง สิวก็เห่อขึ้นมาโดยไม่ทราบสาเหตุ นั่นเป็นเพราะฝุ่นละอองขนาดเล็กสามารถเข้าไปอุดตันรูขุมขน รวมถึงทำให้เกิดการอักเสบของต่อมไขมันใต้ผิว ส่งผลให้เกิดสิวอุดตัน สิวอักเสบ และสิวผดต่าง ๆ

 

ฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อผิวหนัง ทั้งแบบเฉียบพลัน และแบบเรื้อรัง

ผลกระทบที่ฝุ่น PM 2.5 ส่งผลต่อผิวหนังโดยตรงจะมีทั้งหมด 2 ระยะ ขึ้นอยู่กับความเข้มข้น และระยะเวลาของการสัมผัสฝุ่น PM 2.5 แบ่งได้ดังนี้

ระยะที่ 1: ผลกระทบต่อผิวหนัง แบบเฉียบพลัน

ฝุ่น PM 2.5 สามารถทำลายเซลล์ผิวหนังกำพร้าของมนุษย์โดยตรง ทำให้เกิดการอักเสบของผิวหนังที่มากขึ้น เซลล์ผิวหนังทำงานผิดปกติ ทำให้เกราะป้องกันผิวแย่ลง เซลล์ผิวหนังซ่อมแซมตัวเองช้าลง และยังทำลายโปรตีนที่ผิวหนังที่ชื่อฟิลากริน (Filaggrin) ซึ่งมีหน้าที่เป็นโปรตีนที่ช่วยป้องกันผิวหนัง เมื่อผิวอ่อนแอลง เกิดการระคายเคือง ทำให้เกิดผดผื่น ผื่นแดง สิวอุดตัน ผิวแห้ง คันตามผิวหนัง โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความต้านทานของผิวหนังน้อย เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยที่เป็นโรคผิวหนังเรื้อรัง จะได้รับผลกระทบมากกว่าปกติ เพราะผดผื่น หรืออาการผิวหนังอักเสบที่เป็นอยู่เดิมจะกำเริบขึ้นมา หากมีอาการให้รีบทำความสะอาดผิว ทาครีมบำรุงผิว หากมีอาการคันสามารถทานยาแก้แพ้ที่เป็นสารต้านฮิสตามีน เพื่อลดอาการได้

ระยะที่ 2: ผลกระทบต่อผิวหนัง แบบเรื้อรัง

เมื่อสัมผัสกับฝุ่นละออง PM2.5 อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะกระตุ้นการทำลายคอลลาเจนในชั้นผิว การสะสมของมลพิษที่ผิวในระยะยาว ทำให้ผิวดูหมองคล้ำและไม่กระจ่างใส สีผิวไม่สม่ำเสมอ เกิดริ้วรอยเหี่ยวย่น ผิวเสื่อมและแก่เร็วขึ้น และมีงานวิจัยจากภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลในปี 2562ชี้ให้เห็นว่า ฝุ่นมลพิษ PM2.5 ที่มีผลต่อผิวหนังมนุษย์ในระยะยาว ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระที่สามารถส่งผลร้ายต่อเซลล์ผิวหนังมนุษย์ ทั้งในกระบวนการสร้างเซลล์ ซึ่งส่งผลต่อภาวะความชราของผิวหนัง จุดด่างดำบนชั้นผิวหนังบริเวณใบหน้า และเกิดริ้วรอยบริเวณร่องแก้มมากขึ้นด้วย อีกทั้งยังพบการลดลงของการทำงานในระบบภูมิคุ้มกันที่ผิวหนังด้วยเช่นกัน ควรป้องกันผลกระทบระยะยาวจากการสัมผัสฝุ่น PM2.5 ด้วยบำรุงผิวด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ Ceramide และ Hyaluronic Acid ที่สามารถช่วยเสริมสร้าง Skin Barrier ของผิวหนังให้แข็งแรงขึ้น รวมถึงการทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง เช่น ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ผักผลไม้สีเข้ม และธัญพืช

 

แม้ว่าฝุ่น PM2.5 จะไม่ได้ส่งผลให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้โดยตรง แต่ระดับฝุ่น PM 2.5 ที่เข้มข้นในบางช่วงเวลาของปี ก็มีส่วนให้เกิดการกำเริบของผู้ที่เป็นโรคทางผิวหนัง โดยเฉพาะในเด็ก และผู้สูงอายุที่มีโรคผิวหนังเรื้อรัง เช่น โรคผิวหนังภูมิแพ้ผิวหนัง โรคสะเก็ดเงิน และมะเร็งผิวหนังได้

 

ปกป้องผิวยังไง ในวันที่ฝุ่นครองเมือง

 

ดูแลและปกป้องผิวให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดในวันที่ฝุ่นครองเมือง

  • งด หรือหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง

งดหรือหลีกเลี่ยงการออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น กีฬากลางแจ้ง วิ่งในสวนสาธารณะในวันที่ค่าฝุ่น PM 2.5 มีความเข้มข้นเกินค่ามาตรฐาน เพื่อลดโอกาสที่ผิวหนังจะสัมผัสฝุ่นโดยตรง

  • สวมหน้ากาก และสวมเสื้อผ้าที่มิดชิด

เลือกสวมหน้ากากอนามัยที่สามารถกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ เช่น หน้ากาก N95 เมื่อจำเป็นต้องออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้งภายนอกอาคาร

  • รีบทำความสะอาดร่างกายเมื่อถึงบ้าน

รีบอาบน้ำ สระผม เพื่อชำระล้างเอาฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ตกค้างตามผิวหนัง ออกจากร่างกายทันที โดยทำความสะอาดผิวหน้าให้หมดจดด้วยผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับเช็ดสิ่งสกปรก (Cleansing) ตามด้วยคลีนเซอร์ (Cleanser) หรือเจลล้างหน้า เพื่อเป็นการทำความสะอาดผิวแบบล้ำลึกเพิ่มอีกหนึ่งขั้นตอน และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสำหรับผิวแพ้ง่าย ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคือง

  • ทาครีมบำรุง เพื่อเสริมเกราะป้องกันผิว

ใช้มอยส์เจอร์ไรเซอร์ที่ช่วยเสริมเกราะป้องกันผิว และรักษาความชุ่มชื้น เพื่อให้ผิวแข็งแรงและต้านทานมลภาวะได้ดีขึ้น

  • ทาครีมกันแดดอย่างสม่ำเสมอ

เพื่อปกป้องผิวหน้า ผิวกาย จากรังสี UV และฝุ่นต่าง ๆ ตัวการที่ให้ผิวหมองคล้ำ เกิดรอยฝ้า กระ และจุดด่างดำ ผิวดำไหม้

  • สร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแกร่ง

ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำมาก ๆ และรับประทานผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ผักสีเข้ม และผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ก็จะช่วยเสริมให้ชั้นผิวแข็งแรงขึ้น

  • ใช้เครื่องฟอกอากาศภายในบ้าน

เพื่อลดความเข้มข้นของฝุ่น PM 2.5 ภายในที่พักอาศัย

 

เพราะการดูแลคุณภาพอากาศไม่ใช่แค่เรื่องของสิ่งแวดล้อม แต่คือการดูแลชีวิตของเราและคนที่เรารัก ที่เราทุกคนสามารถเริ่มต้นได้ง่าย ๆ จากการลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ปลูกต้นไม้ในบริเวณบ้าน หรือใช้เครื่องฟอกอากาศในพื้นที่เสี่ยง เพราะอากาศดี คือจุดเริ่มต้นของสุขภาพที่ดีในระยะยาว และมั่นใจมากขึ้นด้วยประกันชีวิตและสุขภาพออนไลน์ PRUe-Healthcare Plus เจ็บป่วย เคลมง่าย เหมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยในสูงสุด 500,000 บาท คลิกเลย! https://link.prudential.co.th/7hgtV

 

 

อ้างอิง

PM 2.5 กับผลกระทบทางผิวหนัง

ฝุ่น PM 2.5 ยิ่งกระตุ้นภูมิแพ้

PM 2.5 ฝุ่นที่กระตุ้นให้โรคภูมิแพ้กำเริบ

4 สัปดาห์แรก ปี 68 ป่วยจาก ‘ฝุ่น’ พุ่ง 1.2 แสนคน