เลือกภาษา
close
อากาศโลกวิกฤติอย่างนี้ ลูกเราจะอยู่ยังไง

ร้อนจัด ฝุ่นหนา พายุกระหน่ำ อากาศโลกวิกฤติอย่างนี้ ลูกเราจะอยู่ยังไง ?

การเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศที่รุนแรงขึ้นในทุก ๆ ปี ทั้งฝุ่นหนา ฝนตก แดดเผา สภาพอากาศที่ไม่แน่นอน ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มนุษย์ก็เจอผลกระทบที่หนักหนาไม่แพ้กัน ทั้งความเป็นอยู่ สุขอนามัย และสภาพจิตใจ โดยเฉพาะกับเด็ก ที่มีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาไม่เต็มที่ และเสี่ยงที่จะเผชิญกับโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งมาพร้อมกับสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยทางเว็บไซต์ของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้รายงานเรื่องฝุ่นไว้ว่า ยิ่งละอองฝุ่นมีขนาดเล็กลงเท่าใด ก็ยิ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพเท่านั้น ฝุ่นบางอนุภาคอาจจะเข้าไปถึงกระแสเลือดและไหลเวียนทั่วร่างกายได้ในที่สุด และเป็นสาเหตุของโรคร้ายแรงมากมายเช่น โรคทางเดินหายใจ โรคหอบหืด โรคมะเร็งปอด โรคหัวใจ เป็นต้น ส่วนการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและความชื้นในช่วงฝนตก จากรายงานของสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี แนะนำว่าเด็กเล็กและเด็กก่อนวัยเรียน ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะถ้าเด็กโดนละอองฝนหรือตากฝน อาจจะทำให้เจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด โรคปอดบวม เป็นต้น และหากเด็ก ๆ ต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงขึ้น อากาศร้อนจัด แสงแดดมีความร้อนรุนแรงขึ้น ก็จะทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน เด็กอาจจะเสี่ยงเป็นโรคไข้หวัดแดด ผิวหนังแสบร้อน ไม่สบายได้

 

เมื่อสภาพอากาศเปลี่ยน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของลูก พ่อแม่ต้องเตรียมรับมืออย่างไร

เมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นนี้ คุณพ่อคุณแม่ก็เกิดความกังวลใจ นอกจากจะติดตามข่าวสารเกี่ยวกับสภาพอากาศแบบต่อเนื่องแล้ว ก็ต้องเตรียมตัวหาวิธีรับมืออย่างเหมาะสม เพื่อปกป้องลูกน้อยให้ได้รับผลจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศน้อยที่สุด

น้ำท่วม:

เมื่อเด็ก ๆ ต้องเจอกับสถานการณ์น้ำท่วม น้ำขัง และเชื้อโรคต่าง ๆ ที่มากับน้ำ หากออกจากบ้านต้องให้เด็กสวมรองเท้าบูทเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ผิวหนังสัมผัสหรือโดนน้ำโดยตรง ล้างมือถูสบู่บ่อย ๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ จากเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมากับน้ำสกปรก

ภัยแล้ง:

เมื่อถึงฤดูที่น้ำอาจจะขาดแคลน คุณพ่อคุณแม่ต้องหาแผนสำรองสำหรับฤดูแล้งที่มาถึง เช่น สำรองน้ำสะอาดไว้ในถังเก็บน้ำ เพื่อให้เด็ก ๆ มีน้ำดื่มน้ำใช้อย่างเพียงพอ ปลูกฝังให้เด็กรู้คุณค่าของน้ำและใช้ทัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด

อากาศร้อนจัด:

ในวันที่อากาศร้อนจัด หลีกเลี่ยงการออกจากบ้าน งดกิจกรรมกลางแจ้ง ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี หากมีความจำเป็นต้องออกจากบ้าน ควรทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูง สวมหมวกและเสื้อผ้าที่ป้องกันแสงแดด

ฝุ่นมลพิษ:

เด็กมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบจากฝุ่นและมลพิษ คุณพ่อคุณแม่ควรตรวจสอบคุณภาพอากาศจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ หากพบว่าคุณภาพอากาศแย่ ควรหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน ถ้ามีความจำเป็นต้องออกนอกบ้าน ควรสวมหน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐาน สามารถกรองฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ได้ และภายในบ้านควรเปิดเครื่องฟอกอากาศเพื่อกรองฝุ่นละอองขนาดเล็ก และช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองอากาศภายในบ้าน

 

 

เมื่อเด็ก ๆ ต้องปรับตัวในวันที่สภาพอากาศไม่เหมือนเดิม

การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งฝุ่น มลพิษ อากาศร้อนจัด หรือพายุฝน ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันของเด็กต้องเปลี่ยนไป เด็ก ๆ ต้องปรับตัวอยู่แต่ในบ้านแทนที่จะได้ออกไปวิ่งเล่นกับเพื่อนนอกบ้าน หรือทำกิจกรรมนอกบ้านได้อย่างเต็มที่ ไม่เพียงเท่านี้ยังส่งผลกระทบต่อการเรียนของเด็ก ๆ เพราะในหลาย ๆ ประเทศที่ประกาศให้หยุดเรียนเนื่องมาจากปัญหาคลื่นความร้อนระดับรุนแรงและอุณหภูมิที่สูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้การทำงานของสมองช้าลง ส่งผลต่อความสามารถในการจดจำ และการประมวลผลของเด็กอีกด้วย นอกจากนี้ การที่เด็กไม่ได้ออกไปทำกิจกรรมหรือเล่นนอกบ้านยังส่งผลกระทบต่อเด็กในด้านอื่นๆ ด้วย เช่น

ด้านสุขภาพร่างกาย:

การอยู่ในบ้านมากขึ้น ทำให้เด็กขาดการออกกำลังกาย ขาดการเคลื่อนไหว เสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน โรคหัวใจ และปัญหาสุขภาพอื่นๆ นอกจากนี้ร่างกายยังอาจขาดการสัมผัสแสงแดด โดยข้อมูลของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้รายงานว่า แสงแดดเป็นแหล่งสำคัญของวิตามินดี ที่ช่วยในการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัส ซึ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโตและสร้างความแข็งแรงของกระดูกและฟัน

ด้านพัฒนาการทางร่างกายและสังคม:

เนื่องจากไม่ได้ออกไปวิ่งเล่นหรือทำกิจกรรมนอกบ้าน ทำให้เด็กไม่ได้รับการพัฒนาทักษะทางกาย กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ไม่ได้ถูกกระตุ้น ความคล่องตัวและการประสานงานของร่างกายอาจจะช้าลง ส่วนพัฒนาการด้านสังคม เด็กขาดโอกาสในการเรียนรู้ทักษะการสื่อสาร การแบ่งปัน การเล่นร่วมกับผู้อื่น การทำงานเป็นทีม และขาดการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนวัยเดียวกัน

ด้านสภาพจิตใจ:

การอยู่ในบ้านตลอดเวลา และขาดการทำกิจกรรมนอกบ้าน เด็ก ๆ ไม่มีโอกาสได้ปลดปล่อยพลังตามวัย ทำให้เด็กมีความเครียดและวิตกกังวล มีอารมณ์แปรปรวณหงุดหงิดง่าย ทั้งยังมีความรู้สึกเหงาโดดเดี่ยว

 

แม้อากาศข้างนอกไม่พร้อม แต่พ่อแม่พร้อมทำบ้านให้น่าเล่น

แม้ว่าการออกไปเล่นกลางแจ้งจะมีข้อจำกัดจากสภาพอากาศที่ย่ำแย่ แต่คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถสร้างสภาพแวดล้อมในบ้านที่เต็มไปด้วยกิจกรรมน่าสนใจ ทำให้ลูกได้ขยับร่างกายและพัฒนาความแข็งแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางร่างกายและจิตใจของลูก และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัวด้วย

  1. สร้างกิจกรรมในบ้าน เช่น เล่นเกมที่เด็กได้ปลดปล่อยพลัง การประดิษฐ์งานศิลปะที่เด็กๆ ชอบ ให้เด็กได้เคลื่อนไหวร่างกาย หรือการอ่านนิทานหรือหนังสือเล่มโปรดร่วมกัน ให้เด็กมีส่วนร่วมในการทำอาหาร ทำขนม เป็นต้น

  2. ออกกำลังกายในบ้าน จัดพื้นที่ในบ้านสำหรับการออกกำลังกายร่วมกัน คุณพ่อคุณแม่สามารถหาวิดีโอการฝึกโยคะสำหรับเด็กมาเปิดให้เด็กๆ ดูแล้วทำตาม หรือการเต้นซึ่งเป็นกิจกรรมที่เด็กๆ ชื่นชอบ เปิดเพลงที่เขาชอบแล้วร่วมเต้นไปด้วยกัน

  3. การใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตให้เป็นประโยชน์ กำหนดเวลาให้เด็ก ๆ ได้วิดีโอคอลพูดคุย ทักทายกับญาติพี่น้องหรือเพื่อนวัยเดียวกัน เพื่อให้เด็กยังคงมีการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมแม้ว่าไม่ได้ออกนอกบ้านก็ตาม

 

 

นอกจากนี้พ่อแม่ควรให้ความสำคัญและคอยอธิบายเหตุผลอย่างเรียบง่าย พูดคุยเข้าใจความรู้สึกและความกังวลของเด็ก ให้เด็กเข้าใจสถานการณ์และความจำเป็น เปิดโอกาสให้เด็กแสดงความคิดเห็น ให้การสนับสนุนทางอารมณ์ จะช่วยให้เด็กมีความรู้สึกมั่นคงและปลอดภัย และพร้อมที่จะรับฟังคนในครอบครัว ให้จิตใจและร่างกายดีไปด้วย เพื่อทุกวันที่ดีกว่า

 

ข้อมูลอ้างอิง

  1. มลพิษจากอนุภาคฝุ่นละออง อันตรายคุกคามในอากาศ

  2. สุขภาพเด็ก ๆ ในช่วงหน้าฝน ต้องดูแลอย่างไร