เลือกภาษา
close
ลูกมีแววโมโหร้าย รับมือยังไง

ลูกมีแววโมโหร้าย รับมือยังไงให้ไม่เดือดกันไปทั้งบ้าน

ปัญหาการควบคุมอารมณ์เป็นเรื่องที่พ่อแม่หลายคนกังวลใจไม่น้อย โดยเฉพาะเมื่อพบว่าลูกมีแววโกรธง่าย ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ หรือแสดงออกด้วยอารมณ์รุนแรง ไม่ว่าจะเกิดจากปัญหาภายในจิตใจของเด็ก หรือเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อม การเลี้ยงดู อารมณ์รุนแรงแบบนี้ล้วนส่งผลต่อการพัฒนาของลูกทั้งในด้านอารมณ์และสังคมแน่นอน และยังส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ความสัมพันธ์ในครอบครัว คนรอบข้าง และเพื่อน ๆ ของลูกด้วย

Prudential จึงจับมือกับกับ UNICEF ขอร่วมเป็น #ทีมพ่อแม่ เพื่อร่วมเดินทางเคียงข้างพ่อแม่ทุกคนไปกับ #ParentingJourney ในบทความนี้เราจะช่วยคุณพ่อคุณแม่รับมือและทำความเข้าใจ เมื่อลูกมีแววเป็นเด็กก้าวร้าว โมโหร้าย ไปพร้อม ๆ กัน

 

ลูกก้าวร้าว อารมณ์รุนแรงเกิดจากอะไร

  • ปัจจัยทางร่างกาย: ความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมองอาจทำให้เด็กมีอารมณ์หงุดหงิดง่าย นอกจากนี้ยังพบว่าภาวะทางระบบประสาทอื่น ๆ อาจส่งผลให้เด็กมีปัญหาการควบคุมอารมณ์ นำไปสู่การแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวได้ง่ายขึ้น

  • ปัจจัยทางด้านจิตใจ: เด็กที่มีความอดทนต่ำ รอคอยไม่ได้ อาจมีสาเหตุมาจากการเลี้ยงดูที่ตามใจและขาดการวางระเบียบแบบแผน เหมือนเป็นการปลูกฝังเด็กให้เกิดพฤติกรรมเอาแต่ใจตั้งแต่เด็ก

  • ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม: ครอบครัวที่มีแนวโน้มในการใช้ความรุนแรงจะเป็นแบบอย่างที่ส่งผลให้เด็กเลียนแบบพฤติกรรมดังกล่าวได้ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ที่แสดงถึงการใช้ความรุนแรง อาจทำให้เด็กมีแนวโน้มพัฒนาพฤติกรรมก้าวร้าวขึ้น

 

 

เมื่อลูกเริ่มรุนแรงก้าวร้าว พ่อแม่จะรับมือแก้ไขยังไงดี?

  1. หาสาเหตุที่แท้จริง เพราะเด็กที่แสดงออกด้วยอารมณ์รุนแรงหรือก้าวร้าว อาจกำลังส่งสัญญาณบางอย่าง พ่อแม่ต้องรับฟังอย่างใส่ใจ ไม่ด่วนสรุป สอนและบอกลูกอย่างใจเย็น ก็จะช่วยให้อารมณ์ที่ของลูกเย็นลงได้

  2. โอบกอดและปลอบประโลม การที่พ่อแม่จัดการด้วยการแสดงออกว่า ห่วงใย ถามสาเหตุ สัมผัสลูกด้วยการโอบกอด ก็จะช่วยให้อารมณ์ของลูกสงบลงได้

  3. พ่อแม่ต้องจัดการอารมณ์ของตนเอง เมื่อเกิดสถานการณ์แบบนี้ พ่อแม่เองควรตั้งสติให้ดี ไม่โต้ตอบกลับด้วยความรุนแรง และแก้ปัญหาอย่างใจเย็น

  4. ฝึกให้ลูกจัดการอารมณ์เป็น การฝึกให้ลูกรู้จักหายใจลึก ๆ หรือเบี่ยงเบนความสนใจเมื่อรู้สึกโกรธ พ่อแม่สามารถทำเป็นตัวอย่างเพื่อให้ลูกเห็นว่าควรเลือกวิธีระบายอารมณ์ที่ดีและไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อคนรอบข้าง

  5. สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและสงบ การจัดพื้นที่ให้ลูกสามารถสำรวจและเล่นได้อย่างปลอดภัย จะช่วยสร้างบรรยากาศที่สงบสุข ซึ่งมีผลในการลดพฤติกรรมโมโหร้ายและความก้าวร้าวได้ดี

 

 

ปลดปล่อยพลังส่วนเกินให้เป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์

การที่เด็กแสดงพฤติกรรมที่มีพลังเหลือล้น เช่น การปาข้าวของ อาจเป็นเพราะพลังงานในตัวพวกเขามีมากเกินไปแบบไม่รู้วิธีการปลดปล่อยที่เหมาะสม พ่อแม่สามารถช่วยให้เด็กได้ปลดปล่อยพลังงานอย่างสร้างสรรค์และลดการระบายอารมณ์ในทางลบได้ ดังนี้

  1. หากีฬาที่เหมาะกับลูก เช่น บาสเก็ตบอล หรือฟุตบอล ช่วยให้เด็กได้ระบายอารมณ์ที่เก็บไว้และรู้สึกผ่อนคลาย ในส่วนกีฬาที่ต้องใช้พละกำลัง เช่น การกระโดดเชือก หรือการปีนป่าย ก็เป็นตัวเลือกที่ดีในการเผาผลาญพลังงานและส่งเสริมพัฒนาการทางร่างกายด้วย

  2. จัดพื้นที่เพื่อให้เด็กได้ปล่อยพลัง จัดพื้นที่เล็ก ๆ ในบ้านทำให้พ่อแม่สามารถควบคุมเด็กได้ อาจหาของเล่นที่ไม่เป็นอันตราย เช่น เบาะนุ่ม ๆ ของเล่นยาง เพื่อช่วยให้เด็กรู้จักการเล่นอย่างสร้างสรรค์โดยไม่ทำร้ายคนอื่นหรือตัวเอง

  3. ศิลปะและดนตรีช่วยได้ การวาดภาพ ระบายสี หรือฟังดนตรี ช่วยให้เด็กได้ระบายอารมณ์ออกมาเป็นชิ้นงานศิลปะ ทั้งยังช่วยให้ใจเย็น มีสมาธิและอารมณ์ที่ดีขึ้น

หากพบว่าอารมณ์รุนแรงของลูกนั้นเกินกว่าที่จะควบคุมได้ พ่อแม่อาจต้องพิจารณาการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักจิตวิทยาเด็ก หรือนักพฤติกรรมบำบัด ที่จะช่วยให้คำแนะนำที่เหมาะสมในการแก้ไขพฤติกรรมของลูกได้

 

ข้อมูลอ้างอิง

  1. วิธีรับมือกับลูกขี้หงุดหงิด

  2. อย่าปล่อยให้เด็กโมโหร้ายคุมความโกรธไม่ได้