
หนูน้อยผู้ไม่แพ้ ! หนูแพ้มาไม่เป็นไร สอนลูกยังไงให้เรียนรู้จากความพ่ายแพ้
ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว ยังไงลูกก็ต้องเข้าสู่โลกของการแข่งขัน และเมื่อมีผู้ชนะก็เป็นธรรมดาที่จะมีผู้แพ้ แต่เมื่อเห็นลูกเสียน้ำตาเสียใจและผิดหวัง คนเป็นพ่อแม่อย่างเราก็คงสะเทือนหัวใจกันไม่น้อย แต่อย่าลืมว่าเรานั่นแหละคือคนสำคัญ ที่จะทำให้ลูกกล้าที่จะยอมรับและเรียนรู้จากความพ่ายแพ้ไม่ได้ดั่งใจ และผ่านเหตุการณ์นี้ไปได้อย่างสง่างาม
สอนให้ลูกเข้าใจธรรมชาติของการแข่งขัน
‘รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย’ เป็นสิ่งที่เราถูกสอนกันมารุ่นสู่รุ่น เพราะการแพ้ชนะเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องเจอ การสอนให้ลูกเข้าใจธรรมชาติของการแข่งขันจะเป็นการสร้างทักษะการใช้ชีวิตให้กับเขาเหมือนการฉีดวัคซีนสร้างภูมินั่นแหละ ลูกอาจจะร้องไห้ในช่วงแรก แต่หลังจากนั้นเขาจะเรียนรู้ว่าการแพ้ชนะเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต ลองเปลี่ยนจากการพูดว่า ‘ทำไมแค่นี้ไม่ชนะ แม่ผิดหวังมากเลยนะ’ เป็น ‘ไม่เป็นไรนะลูก ถึงคราวนี้จะแพ้ แต่แม่รู้ว่าหนูได้พยายามเต็มที่แล้ว คราวหน้าเรามาสู้กันใหม่เนอะ’
สร้างโอกาสในการรู้เท่าทันและจัดการอารมณ์ให้เป็น
เมื่อลูกร้องไห้เสียใจอย่าไปบังคับให้เขาหยุดร้องในทันที แต่ค่อย ๆ สอนให้เขารู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง อธิบายให้เขาฟังว่า ‘ตอนนี้หนูกำลังร้องไห้เพราะเสียใจอยู่ หนูกำลังผิดหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นเรื่องธรรมดานะลูก’ และนี่ยังเป็นโอกาสที่จะสอนให้ลูกมี Emotional Agility หรือ ทักษะในการจัดการอารมณ์ เมื่อเจอกับเหตุการณ์ที่ไม่ได้ดั่งใจ เมื่อเขาเรียนรู้ที่จะรับมือกับอารมณ์ของตัวเองได้ดีขึ้น เราจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีอย่างแน่นอน
สร้างทัศนคติให้เขาอยากที่จะพัฒนาตัวเอง
หลังจากค้นหาสาเหตุของความพ่ายแพ้นั้นแล้วว่าเกิดจากอะไร สิ่งสำคัญที่เราต้องสร้างหลังจากนั้น คือทัศนคติหรือMindset ที่ทำให้เขาอยากที่จะพัฒนาตัวเอง และมูฟออนจากความเศร้าให้ได้ อธิบายให้ลูกเห็นภาพโดยอาจเริ่มจากเรื่องง่าย ๆ เช่น ‘แม่รู้ว่าหนูพยายามเต็มที่แล้ว ถึงคราวนี้จะแพ้ก็ไม่เป็นไรนะลูก แม่ว่าเรามาช่วยกันคิดดีกว่า ว่ามีอะไรที่เราพลาดไปบ้าง’ นี่คือหนึ่งตัวอย่างที่เปิดโอกาสให้เขาได้คิด ให้เขาลองวิเคราะห์สถานการณ์และลิสต์ข้อดีและข้อเสียของตัวเอง อะไรที่ดีก็เก็บไว้ อะไรที่ไม่ดีจะได้พัฒนาแก้ไขให้ตรงจุด
สอนให้เขามีทักษะของความยืดหยุ่น
เมื่อไม่มีอะไรได้ดั่งใจเราไปหมดทุกอย่าง ทักษะของความยืดหยุ่น (Resilience) จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ลูกเติบโตในสังคมได้รอดปลอดภัยและมีความสุข ทักษะนี้คือความสามารถในการปรับตัว และรับมือกับอุปสรรคหรือความยากลำบากต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตทั้งร่างกายและจิตใจ ฝึกให้เขาเข้าใจว่าความรู้สึกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นความเสียใจผิดหวังสิ่งเหล่านี้จะไม่ได้คงอยู่ตลอดไป เมื่อเวลาผ่านไปความรู้สึกเหล่านี้จะค่อย ๆ ลดลงและหายไปในที่สุด เมื่อฝึกไปเรื่อย ๆ เด็ก ๆ จะมองว่าความพ่ายแพ้คือโอกาสในการเรียนรู้ และเขาจะสามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
เพราะพ่อแม่คือต้นแบบที่สำคัญของลูก
ต่อให้เราสอนลูกได้ดีแค่ไหนคำสอนที่ถูกบอกออกจากปากอย่างเดียวจะไม่มีทางได้ผลดี หากการกระทำของคุณพ่อคุณแม่นั้นสวนทางกัน เพราะเด็กจะเริ่มเลียนแบบในสิ่งที่เขาเห็นหรือได้ยิน และแสดงออกอย่างชัดเจนได้ตั้งแต่อายุประมาณ 4 เดือน พอเข้า 6 เดือน เด็กจะรับรู้อารมณ์ผ่านทางใบหน้า พอ 8 เดือนเด็กจะเริ่มเลียนแบบคำพูด และเมื่อเข้า 1 ขวบ ที่เขาสามารถเคลื่อนไหวตัวเองได้อย่างคล่องแคล่ว เขาจะเริ่มเลียนแบบพฤติกรรมต่าง ๆ และหากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นด้านลบเขาก็มีโอกาสที่จะหยิบสิ่งนั้นมาแสดงออกในภายหลังได้ พฤติกรรมการเลียนแบบของเด็กจะส่งผลอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับพื้นฐานครอบครัวและการอบรมสั่งสอนของทุกคนในครอบครัว
การปลูกฝังความคิดดีๆ ให้กับลูกตั้งแต่เขายังเล็ก จะช่วยให้เขาเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ในอนาคต เพราะครอบครัวคือส่วนสำคัญที่ทำให้ทุก ๆ วันของลูกเป็นวันที่ดี