เลือกภาษา
close
คู่มือ Check Up ฉบับคนกลัวมะเร็ง

ในอดีต ‘มะเร็ง’ มักถูกมองว่าเป็นโรคที่พบในผู้สูงวัย เนื่องจากปัจจัยการเสื่อมของร่างกายตามวัย แต่ในปัจจุบัน โรคมะเร็งเริ่มมีแนวโน้มพบมากขึ้นในกลุ่มคนวัยทำงาน หรือคนหนุ่มสาว จากสถิติขององค์การอนามัยโลก ปี 2563 พบว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประชาคมโลก ปีละกว่า 10,000,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีคนอายุระหว่าง 30 – 60 ปี กว่าครึ่ง ที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร สำหรับประเทศไทย โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ติดต่อกันหลายสิบปี นับตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน ข้อมูลจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเผยแพร่เมื่อต้นปี 2567 สะท้อนว่าคนไทยป่วยเป็นมะเร็งรายใหม่ปีละกว่า 140,000 คน และเสียชีวิตราว 83,000 คน สะท้อนถึงแนวโน้มการเกิดโรคมะเร็งที่มากขึ้นในกลุ่มคนวัยทำงาน เนื่องมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

 

โรคมะเร็งสาเหตุการตายอันดับ 1 ของคนไทย

 

ทำไมคนวัยทำงานถึงเป็นมะเร็งมากขึ้นทุกปี

1. พฤติกรรมการใช้ชีวิต

การดำเนินชีวิตของคนวัยทำงานในปัจจุบันเต็มไปด้วยความเร่งรีบ สุขภาพการกินถูกละเลย การบริโภคอาหารไม่เหมาะสม นอกจากทานอาหารไม่ตรงเวลาแล้ว ยังเน้นอาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารแปรรูป ซึ่งอาหารประเภทนี้ มีสารปรุงแต่งและไขมันทรานส์สูง นอกจากนี้อาหารบางชนิดยังมีน้ำตาลและไขมันสูงอีกด้วย การดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ การสังสรรค์หลังเลิกงาน มักจะมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ ซึ่งกลายเป็นเรื่องปกติในกลุ่มคนทำงาน และงานที่หนัก ต้องแข่งกับเวลา ทำให้ ขาดการออกกำลังกาย มีเวลาพักผ่อนน้อยลง การออกกำลังกายเลยถูกจำกัดไปด้วย

2. ความเครียดจากการทำงาน

เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลเสียต่อระบบภูมิคุ้มกันและฮอร์โมนในร่างกาย ความเครียดสะสม มีผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายอ่อนแอและเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ รวมถึงโรคมะเร็ง คนทำงานโดยมากมันพักผ่อนไม่เพียงพอ และความเครียดทำให้เผชิญกับภาวะการนอนหลับไม่เต็มที่ ซึ่งส่งผลเสียต่อการฟื้นฟูซ่อมแซมเซลล์ในร่างกาย

3. มลภาวะในสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยสารพิษ

ที่เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็ง เช่น มลพิษทางอากาศ ฝุ่น PM2.5 ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ สารเคมีในอากาศ หรือสารพิษตกค้างในระบบน้ำประปา หรือสารเคมีที่ปนเปื้อนมากับน้ำฝนก็เป็นส่วนหนึ่ง

 

เช็กตัวเองกันหน่อย ว่าเรามีพฤติกรรมเสี่ยงโรคมะเร็งเหล่านี้รึเปล่า?

  • หากมีความเครียดสะสม นอนน้อยบ่อย ๆ อาจไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงเรื่องมะเร็งโดยตรง แต่จะส่งผลต่อสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง

  • ปาร์ตี้สังสรรค์หลังเลิกงานบ่อย ๆ ดื่มแอลกอฮอล์หนัก สูบบุหรี่จัด พักผ่อนน้อย ทำพฤติกรรมเหล่านี้เป็นประจำ ก็มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะอาหาร และในบุหรี่ยังมีสารที่ก่อมะเร็ง จึงเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเกือบทุกชนิดอีกด้วย

  • ทำงานหนัก จนเลยเวลาอาหาร กินเสร็จแล้วนอน กรดไหลย้อนเรื้อรัง หากปล่อยไว้นานก็อาจส่งผลให้หลอดอาหารมีแผล ร้ายแรงถึงขั้นเป็น มะเร็งหลอดอาหารได้

  • รีบเร่งจนกินอาหารฟาสต์ฟู้ดและอาหารแปรรูปเป็นมื้อหลักเกือบทุกวัน เพราะทานง่าย อร่อย หาซื้อสะดวก แต่ก็พ่วงมากับโรคอ้วน ไขมันอุดตัน และเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้ด้วย

  • ทำงานในที่โล่งแจ้ง เดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ ที่ต้องเจอมลภาวะ ฝุ่น ควัน ปัญหาภูมิแพ้ หอบหืด ระบบทางเดินหายใจมีปัญหา และในระยะยาวมีโอกาสทำให้เป็นโรคมะเร็งปอด

 

ตรวจสุขภาพ เช็กก่อน รู้ก่อน รักษาได้ หายเร็ว

การตรวจสุขภาพประจำปี ไม่ใช่เพียงการเจาะเลือดหรือการเอกซเรย์ขั้นพื้นฐาน แต่เป็นการพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำการตรวจร่างกายโดยรวม การตรวจสุขภาพจะมีความแตกต่างกันในแต่ละวัย เนื่องจากโอกาสหรือความเสี่ยงของแต่ละช่วงวัยไม่เหมือนกัน เช่น ความเสี่ยงมาจากกรรมพันธุ์ หรืออาจมีความเสี่ยงมาจากการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งยังต้องตรวจให้ครอบคลุมตามความเสี่ยงของแต่ละช่วงวัยด้วย เพื่อให้ค้นหาความเสี่ยงของโรคได้อย่างตรงจุด เพิ่มโอกาสป้องกันการเกิดโรค และวางแผนการรักษาให้หายเป็นปกติ

 

ตรวจสุขภาพตามช่วงอายุเลือกยังไง

น้อยกว่า 30 ปี

ตรวจขั้นพื้นฐาน เพื่อประเมินความเสี่ยงจากโรคภัยที่ยังไม่แสดงอาการ ทำให้วางแผนในการดูแลสุขภาพได้อย่างเหมาะสม โปรแกรมที่ควรตรวจมีดังนี้ ตรวจความสมบูรณ์ในเม็ดเลือด เพื่อตรวจหาภาวะโลหิตจาง ภาวะติดเชื้อ ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อคัดกรองโรคเบาหวาน ตรวจวัดระดับไขมันในเลือด เพื่อคัดกรองโรคไขมันในเลือดสูง ตรวจวัดระดับกรดยูริก เพื่อคัดกรองโรคเกาต์ ตรวจการทำงานของไต ตับ เพื่อประเมินการทำงานของอวัยวะ ตรวจปัสสาวะ เพื่อค้นหาภาวะติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ โรคไต และเอกซเรย์ปอด เพื่อคัดกรองโรคปอด

ช่วงอายุ 30-39 ปี

เป็นวัยที่เริ่มมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ซึ่งการตรวจสุขภาพประจำปีจะช่วยวินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการรักษา ควรตรวจประเมินความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ เพื่อตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจวัดไขมันในเลือด ตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี นอกจากนี้ควรฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนมะเร็งปากมดลูก (HPV)

ช่วงอายุ 40-59 ปี

นอกจากการตรวจสุขภาพทั่วไปและการตรวจคัดกรองโรคเพิ่มเติม แนะนำให้ตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจวัดไขมันในเลือด ตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และการตรวจระดับคอเลสเตอรอล ตรวจความเสี่ยงมะเร็ง ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ชาย หรือตรวจมะเร็งปากมดลูกและตรวจมะเร็งเต้านมสำหรับผู้หญิง

อายุ 60 ปี ขึ้นไป

เข้าสู่วัยทอง ร่างกายเริ่มเสื่อมสภาพ การตรวจสุขภาพประจำปี จึงสามารถช่วยติดตามผลการรักษาและช่วยลดโอกาสการเกิดโรคแทรกซ้อนได้เป็นอย่างดี การตรวจเพิ่มเติมที่ไม่ต่างจากในช่วงอายุ 40-59 ปีแล้ว การตรวจสุขภาพจิตก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เพราะผู้สูงอายุในวัยนี้มักมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า

 

ควรตรวจคัดกรองเพิ่มเติม หากรู้ว่ามีพฤติกรรมเสี่ยง ดังนี้

  • ดื่มหนัก ดื่มบ่อย สูบบุหรี่จัด - ตรวจคัดกรองมะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งทางเดินอาหาร

  • กรดไหลย้อนเรื้อรัง ทานอาหารไม่ตรงเวลา – ตรวจส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน

  • ทำงานหนัก เครียดสะสม นอนไม่เพียงพอเป็นระยะเวลานาน – ตรวจคัดกรองโรคหลอดเลือดสมอง

  • ทำงานหรืออยู่ในที่โล่งแจ้งตลอดเวลา เผชิญ ฝุ่น ควัน – ตรวจคัดกรองมะเร็งปอด เอกซเรย์ MRI ปอด

 

มะเร็ง เช็กก่อน รู้ก่อน Self-check ง่าย ๆ ที่ทำได้ด้วยตัวเอง

 

3 Self-check เช็กตัวเองเบื้องต้นง่ายๆ ทำได้บ่อยๆ

มะเร็งเต้านม

สาว ๆ สามารถสังเกต และคลำเต้านมด้วยตัวเองเดือนละครั้ง หากมีก้อนเนื้อผิดปกติหรือผิวไม่เรียบเหมือนเดิม รวมถึงมีสีแปลกไปหรือมีน้ำไหลออกมาจากหัวนม

มะเร็งลำไส้

ทุกคนสามารถเช็กลักษณะอุจจาระ หากอุจจาระสีคล้ำติดต่อกันนานเป็นสัปดาห์ หรือมีรูปร่างเล็กเรียวยาวผิดปกติ อาจเป็นสัญญาณของโรคทางลำไส้

มะเร็งตับ

ส่องกระจกเพื่อเช็กตัวเองได้ทุกวัน เช็กตาขาวว่าไม่เหลือง ไม่มีอาการปวดท้องข้างขวาส่วนบน

 

ตัวเลขในผลตรวจสุขภาพบอกอะไรได้บ้าง

ตัวเลขในสมุดตรวจนี้คืออะไร ค่าไหนดี ค่าไหนเสี่ยง สุขภาพโดยรวมยังปกติไหม มาดูกัน

1. ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด Complete Blood Count : CBC

  • ตรวจเม็ดเลือดแดง วัดค่าฮีโมโกลบิน (Hemoglobin: Hb/HGB) บอกถึงความสามารถของเม็ดเลือดในการลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ค่ามาตรฐานสำหรับผู้ชาย = 13.5-17.4 g/dL : ค่ามาตรฐานสำหรับผู้หญิง = 12.0-16.00 g/dL หากค่าสูงกว่ามาตรฐาน จะหมายถึง “ภาวะเลือดข้น” / หากค่าต่ำกว่ามาตรฐาน จะหมายถึง “ภาวะโลหิตจาง”

  • ตรวจเม็ดเลือดขาว (White Blood Cell Count : WBC) ค่าปกติของเม็ดเลือดขาวจะอยู่ที่ 4,500 - 10,000 cell/mL หากตรวจพบค่าสูงกว่าปกติอาจมีภาวะการติดเชื้อ แต่ถ้าค่าต่ำกว่าปกติจะเสี่ยงติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนทั่วไป

  • ตรวจเกล็ดเลือด (Platelet Count) ปริมาณเกล็ดเลือดมาตรฐานคือ 140,000 -440,000 platelets/mm3 หากมีเกล็ดเลือดน้อยเกินไปจะมีภาวะเลือดหยุดยากหรือไม่หยุดเมื่อมีแผล ถ้ามีเกล็ดเลือดมากไปจะเสี่ยงภาวะหลอดเลือดตีบได้ง่าย

2. ระดับน้ำตาลในเลือด

เพื่อหาข้อบ่งชี้ของโรคเบาหวาน โดยหาค่าระดับกลูโคสในเลือด (Blood Glucose) ค่ามาตรฐานคือ 70-100 mg/dL หากเกิน 100 mg/dL จะเข้าข่ายเสี่ยงโรคเบาหวาน /หากเกิน 126 mg/dL ถือว่ามีความเสี่ยงโรคเบาหวานสูง ควรทำการตรวจซ้ำในวันอื่น หรือทำการตรวจระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมจาก ฮีโมโกลบิน เอวันซี (GlycatedHb-HbA1c) หากได้ค่าเกิน 7 จะยืนยันได้ว่าเป็นเบาหวานแล้ว

3. ระดับไขมันคอเลสเตอรอล (Cholesterol) และไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride)

เป็นการตรวจเพื่อหาความเสี่ยงในการเป็นโรคที่เกี่ยวกับความดันโลหิต โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง

  • คอเลสเตอรอล (Cholesterol) ต้องไม่เกิน 200 mg/dL หากมีมากเกินไปอาจเกิดการตกค้างอยู่ตามหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดอุดตันได้

  • ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ต้องไม่เกิน 150 mg/dL

  • ไขมันไม่ดี (LDL-Cholesterol) ต้องไม่เกิน 100 mg/dL หากมีมากเกินไปก็จะนำไปสู่ความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง

  • ไขมันดี (HDL-Cholesterol) ในผู้หญิงต้องมากกว่า 40 mg/dL ในผู้ชายต้องมากกว่า 50 mg/dL ไขมันชนิดนี้ มีหน้าที่หลักในการช่วยนำคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ไปกำจัดทิ้ง จึงช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดหัวใจได้

4. การทำงานของตับ (Liver Function Test : LFT)

เพื่อดูการทำงานของตับว่าผิดปกติหรือไม่

  • SGOT ค่าปกติ ในผู้ชายและผู้หญิงจะต่างกัน ดังนี้ ผู้ชาย 8-46 U/L : ผู้หญิง 7-34 U/L

  • SGPT จะบอกถึงความเป็นพิษต่อตับที่อาจเกิดจากยาบางชนิด แอลกอฮอล์ อาหาร หรือการติดเชื้อไวรัส โดยค่าปกติของ SGPT คือ ผู้ชาย 30 U/L : ผู้หญิง 19 U/L หากค่าที่วัดได้สูงกว่าปกติ อาจบอกได้ว่าตับหรือตับอ่อนกำลังมีปัญหา

5. การทำงานของไต (Blood Urea Nitrogen : BUN) และ ครีอะตินิน (Creatinine)

  • ค่า BUN ปกติจะอยู่ในช่วง 10-20 mg/dL หากตรวจพบค่า BUN สูง แสดงว่าการทำงานของไตกำลังมีปัญหา อาจนำไปสู่ภาวะไตวายเฉียบพลันได้

  • ค่าครีอะตินิน (Creatinine) เป็นการตรวจการทำงานของไตว่ายังขับครีอะตินินออกทางปัสสาวะได้ดีอยู่หรือไม่ ค่าปกติของครีอะตินิน คือ ผู้ชาย 0.6-1.2 mg/dL : ผู้หญิง 0.5-1.1 mg/dL หากค่าที่ได้ สูงกว่านี้ แสดงว่าไตทำงานแย่ลง ขับครีอะตินินได้ไม่ดี ทำให้เหลือค้างในกระแสเลือดมากเกินไป

 

เมื่อผลตรวจสุขภาพอยู่ในเกณฑ์ไม่ปกติ ต้องทำอย่างไร

ผลตรวจเป็นการบ่งบอกการเริ่มต้นของโรค แพทย์อาจสั่งยา หรือมีคำแนะนำอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การปรับพฤติกรรมที่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้ตรวจ รวมถึงอาจส่งต่อเพื่อรับการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทาง

นอกจากนี้ ไม่ควรละเลยคำแนะนำของแพทย์ โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงแต่ยังไม่เป็นโรค เนื่องจากการรักษาในระยะเริ่มต้นมีโอกาสหายขาดได้มากกว่า และมีแนวโน้มที่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ และที่สำคัญหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ เน้นผักผลไม้ เลี่ยงอาหาร หวาน มัน เค็ม ดื่มน้ำ 8-10 แก้วต่อวัน นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ดูแลอารมณ์และจิตใจ ไม่ให้เครียดหรือวิตกกังวลมากเกินไป

 

5 อาการแปลกๆ ที่อาจเป็นสัญญาณของมะเร็ง

 

5 อาการแปลก ๆ หรือสัญญาณเริ่มต้นของโรคมะเร็ง สังเกตได้ยังไงบ้าง?

  • มีแผลเรื้อรังรักษาไม่หาย

  • ไอเรื้อรัง ไอปนเลือด เสียงแหบ

  • มีไฝหรือหูดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

  • กลืนลำบาก ท้องบวม ระบบย่อยผิดปกติ

  • คลำเจอก้อนเนื้อเพิ่งขึ้นใหม่

 

สู้มะเร็งร้าย ต้องจ่ายค่ารักษาเท่าไหร่

 

สู้มะเร็งร้าย ต้องจ่ายค่ารักษาเท่าไหร่

เพราะค่ารักษาโรคมะเร็งไม่ได้จ่ายครั้งเดียวแล้วจบง่าย ๆ และทุกขั้นตอนของการรักษาก็มีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันไป ยังไม่นับถึงการรักษาด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่อาจต้องใช้ค่าใช้จ่ายมหาศาลยิ่งกว่าเดิม

 

สร้างความอุ่นใจให้กับตัวเอง ด้วย PRUCancer Care คุ้มครองโรคมะเร็งทุกระยะ แบบ เจอ จ่าย แบบไม่จบ เพราะคุ้มครองมะเร็งทุกระยะ ไม่ว่าจะตรวจเจอมะเร็งระยะลุกลาม หรือมะเร็งระยะไม่ลุกลาม ซื้อได้ไม่ต้องตรวจสุขภาพ เพียงตอบคำถามสุขภาพง่าย ๆ  คลิกเลย!

 

 

หมายเหตุ :

  • ผู้ซื้อควรทำความเข้าใจรายละเอียดความคุ้มครองและเงื่อนไขก่อนตัดสินใจทำประกันภัยทุกครั้ง

  • สิทธิลดหย่อนภาษีเป็นไปตามเงื่อนไขของกรมสรรพากร

  • เงื่อนไขความคุ้มครองเป็นไปตามที่ระบุในกรมธรรม์

  • ความคุ้มครองขึ้นกับแผนประกันที่เลือก

 

อ้างอิง

โรคหลอดเลือดสมอง ถ้าคุณทำงานหนัก...อาจได้รับสิทธิ์นั้นเดี๋ยวนี้!

สูบบุหรี่ทำให้เกิดมะเร็งปอด แล้วส่งผลให้เกิดมะเร็งชนิดอื่นด้วยหรือไม่?

ตับและตับอ่อนอักเสบเรื้อรังจากพิษแอลกอฮอล์

กรดไหลย้อนเรื้อรัง เสี่ยงมะเร็งหลอดอาหารได้ด้วย!

คนไทยเสียชีวิตจากฝุ่น PM2.5 70,000 คน ต่อปี

ตรวจสุขภาพประจําปี ต้องตรวจอะไรบ้างให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย

รู้จัก “โรคมะเร็ง” ภัยร้ายที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ

ตัวเลขในผลตรวจสุขภาพ…บอกอะไรเราบ้าง?

นี่เราเป็นมะเร็งกันมากขึ้น เพราะกินไส้กรอกมากไปจริงเหรอ?